พินอิน คือระบบในการถอดเสียงภาษาจีนมาตรฐาน ด้วยตัวอักษรละติน โดย รัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยใช้แทนที่ระบบการถอดเสียงแบบเก่า คือ ระบบจู้อิน นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบระบบอื่น ๆ สำหรับนำไปใช้กับภาษาพูดของจีนในถิ่นต่าง ๆ และภาษาของชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช้ภาษาฮั่น ในสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย
พินอินเป็นที่ยอมรับจากสถาบันนานาชาติหลายแห่ง รวมทั้งรัฐบาลสิงคโปร์ หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน และสมาคมหอสมุดอเมริกัน โดยถือว่าเป็นระบบการถอดเสียงที่เหมาะสมสำหรับภาษาจีนกลาง เมื่อปี พ.ศ. 2522 องค์การมาตรฐานนานาชาติ (ISO) ก็ได้รับเอาพินอินเป็นระบบมาตรฐาน (ISO 7098) ในการถ่ายทอดเสียงภาษาจีนปัจจุบันด้วยอักษรโรมัน (the standard romanization for modern Chinese) ซึ่งเป็นการทับศัพท์ด้วยตัวอักษรโรมัน (Romanization) มิใช่การถอดเสียงแบบภาษาอังกฤษ (Anglicization) นั่นคือ การกำหนดให้ใช้ตัวอักษรตัวหนึ่ง สำหรับแทนเสียงหนึ่ง ๆ ในภาษาจีนไว้อย่างตายตัว เช่น b และ d ในระบบพินอิน เป็นเสียง “ป” และ “ต” ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างจากระบบการออกเสียงส่วนใหญ่ ไม่ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือภาษาอื่นในยุโรป กล่าวสั้น ๆ ก็คือ พินอินมุ่งที่จะใช้อักษรโรมัน เพื่อแทนเสียงใดเสียงหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อความสะดวกในการเขียน มิได้ยืมเสียงจากระบบของอักษรโรมันมาใช้ การใช้ระบบนี้นอกจากทำให้ชาวต่างชาติเขียนอ่านภาษาจีนได้สะดวกแล้ว ยังสามารถใช้กับคอมพิวเตอร์ได้สะดวกอย่างยิ่งด้วย
โจวโหย่วกวงบิดาแห่งพินอิน
โจวโหย่วกวง 周有光 ผู้ซึ่งเป็น “บิดาแห่งพินอิน 汉语拼音之父 เกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1906 ในสมัยราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของจีน
พื้นเพเดิมของโจวโหย่วกวง อยู่ที่ซอยชิงกั่ว เมืองฉางโจว มณฑลเจียงซู ซอยชิงกั่วมีชื่อเสียงเพราะว่าเมื่อทศวรรษปีค.ศ. 1900 มีนักภาษาศาสตร์ถึง 3 ท่านซึ่งรวมถึงโจว โหย่วกวงด้วยล้วนถือกำเนิดอยู่ในซอยนี้ นักภาษาศาสตร์ 3 ท่านนี้ต่างมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาษาจีนร่วมสมัย
โจวโหย่วกวงเสียชีวิตที่บ้าน ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน จากไปด้วยวัย 111 ปีในวันที่ 14 ม.ค. 2560 เพียงหนึ่งวัน หลังครบรอบวันคล้ายวันเกิดของเขาพอดี
ติดตามเรื่องราวของ โจวโหย่วกวงได้ คลิกที่นี่
ขอบคุณที่มา : thai.cri.cn