จื้อเล่อหยวน หรือสวนจื้อเล่อ 智乐园 เป็นสวนที่รัฐบาลจีนสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในครั้งที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปี 1987 เพื่อแสดงความสัมพันธ์ สมานฉันท์ ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ อยู่ในสวนหลวง ร.9 ประเทศไทย
ชื่อของสวนนี้ มีความหมายว่า ผู้มีสติปัญญารักสายน้ำ ผู้มีเมตตารักขุนเขา ซึ่งเป็นคำกล่าวของขงจื้อ ปรัชญาเมธีของจีนในสมัยโบราณ หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของประชาชนชาวไทยทรงเป้นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมี พระราชปรีชาญาณ กอปรด้วยพระเมตตาธรรม มีพระมหากรุณาธิคุณพระบารมีแผ่ไพศาลเป็นร่มเกล้าแก่ปวงชนชาวไทย
สวนจื้อเล่อมีเนื้อที่ทั้งหมด 2,087 ตารางเมตร ลักษณะการก่อสร้างของสวนเลียนแบบของสวนภาคใต้ของจีน หรือเจียงหนาน ออกแบบให้มีเก๋งจีนตั้งอยู่บนเนินเขา รายล้อมด้วยต้นไม้ สระบัว พร้อมระเบียงทางเดินริมน้ำตามแบบ สวนจีน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่มีน้ำและส่วนทางบก
ในสวนมีศาลาริมน้ำ ศาลาเซียงยิ่ง ศาลาเรือระเบียงและภูเขาจำลอง
ศาลาเซียงยิ่งเป็นศาลาสองแห่งที่เชื่อมต่อกัน เป็นสัญญลักษณ์ว่าประชาชนชาวไทยและชาวจีนมีความผูกพันธ์อันใกล้ชิดและมีมิตรภาพอันยั่งยืน
ส่วนศาลาเรือนั้น หมายถึงรัฐชาลจีน และประชาชนจีน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะเจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป
เมื่อปี 2003 รัฐบาลจีน ได้เริ่มดำเนินการบูรณะซ่อมแซมสวนจื้อเล่อ หลังจากซ่อมเสร็จแล้วมีเนื้อที่ทั้งหมด 2,487 ตารางเมตรและได้สร้างทางเข้าสวนจัดแบบสวนดอกไม้ และปลูกต้นไม้ในสวนอีกด้วย
การซ่อมแซมสวนครั้งนี้ บริษัทการก่อสร้างสวนแห่งประเทศจีนเป็นผู้ก่อสร้างโดยส่งวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้าง ช่างวิศวกรและช่างก่อสร้างมาจากประเทศจีนทั้งหมด ใช้เวลาในการซ่อมแซม 90 วัน
ปรัชญาขงจื้อ ผู้มีสติปัญญารักสายน้ำ ผู้มีเมตตารักขุนเขา
子曰:“智者乐水,仁者乐山;智者动,仁者静;智者乐,仁者寿。
ขงจื้อกล่าวว่า ผู้มีปัญญาดุจสายน้ำ ผู้มีเมตตาดุจขุนเขา ผู้มีปัญญาเคลื่อนไหว ผู้มีเมตตา สงบนิ่ง ผู้มีปัญญา มีความสุข ผู้มีเมตตา อายุยืน
ขงจื้อเปรียบเทียบผู้มีปัญญาดุจดั่งสายน้ำไหล ลักษณะของสายน้ำนั้น สามารถเปลี่ยนแปลง และไหลไปตามสภาพแวดล้อม ดุจดั่งผู้ที่มีปัญญาไม่ว่าอยู่ในสถานที่หรือสภาพแวดล้อมใด ยังคงสามารถใช้ความสามารถของตนเองได้
ขงจื้อเปรียบเทียบผู้มีเมตตา ดั่งขุนเขา ความสุขของผู้ที่มีเมตตานั้น หนักแน่น มั่นคง และยิ่งใหญ่ดั่งขุนเขา