วันวิสาขบูชา เว่ยไซ่เจี๋ย 卫塞节

วันวิสาขบูชา ภาษาจีน เรียกว่า เว่ยไซ่เจี๋ย 卫塞节 wèi sài jié เป็นการถอดเสียงจากภาษาบาลี หรือ โฝตั้นเจี๋ย 佛诞节 fódàn jié แปลว่า วันประสูติของพระพุทธเจ้า

ตามความเชื่อของพุทธศาสนา แบบเถรวาท นั้นเชื่อว่า วันประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เรียกว่าวันวิสาขบูชา แต่ถ้าเป็นความเชื่อของจึน แบบมหายาน นั้น วันสำคัญของพุทธเจ้า แต่ละวันจะไม่ตรงกัน โดย

วันคล้ายวันพุทธสมภพ คือ วันที่ 8 เดือน 4 จีน
วันคล้ายวันเสด็จออกผนวชคือ วันที่ 8 เดือน 2 จีน
วันคล้ายวันทรงตรัสรู้พระโพธิญาณคือ วันที่ 8 เดือน 12 จีน (เทศกาลล่าปา)
วันคล้ายวันเสด็จดับขันธ์รินิพพานคือ วันที่ 15 เดือน 2 จีน

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าถึง 3 เหตุการณ์ คือ การประสูติ 诞生 dànshēng การตรัสรู้ 成道 chéngdào และการปรินิพพาน 涅槃 ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเหตุการณ์เหล่านั้น

คติธรรมหลักคือไตรลักษณ์ อันได้แก่ความเป็นธรรมดาของโลก 3 ประการ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์คือตั้งอยู่ในสภาพเดิมมิได้ และอนัตตา ความที่สังขารทั้งหลายไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ (เช่น บังคับไม่ให้แก่ไม่ได้ บังคับไม่ให้ตายไม่ได้) ซึ่งทุกสรรพสิ่งในโลก ล้วนตกอยู่ในสภาพ 3 ประการนี้ แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของโลก ก็ยังต้องทรงตกอยู่ในกฎเหล่านี้ ไม่มีใครสามารถพ้นไปได้

สำหรับหลักธรรมที่ได้จากเหตุการณ์ในวันวิสาขบูชา ทั้ง 3 เหตุการณ์ คือ

ความกตัญญู : 孝 ความดีทั้งหลายความกตัญญูมาเป็นอันดับแรก

อริยสัจ 4  四圣谛 sì shèng dì หรือ 四谛 sì dì : ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ประกอบไปด้วย

ทุกข์ 苦 kǔ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น

สมุทัย 集 jí คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง ได้แก่ ตัณหา 3 คือ
กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์
ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่
วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่

นิโรธ 灭 miè คือ ความดับทุกข์ ความดับโดยสิ้นกำหนัด สละตัณหา วางตัณหา ปล่อยตัณหา ไม่พัวพันแห่งตัณหา

มรรค 道 dào คือ หนทางพ้นทุกข์ มีองค์ประกอบ 8 ประการ ปาเจิ้งเต้า 八正道 ได้แก่

1)สัมมาทิฏฐิ 正见 ความเห็นชอบ
2)สัมมาสังกัปปะ 正思维 ความดำริชอบ
3)สัมมาวาจา 正语 เจรจาชอบ
4)สัมมากัมมันตะ 正业 ทำการงานชอบ
5)สัมมาอาชีวะ 正命 เลี้ยงชีพชอบ
6)สัมมาวายามะ 正精进 พยายามชอบ
7)สัมมาสติ 正念 ระลึกชอบ
8)สัมมาสมาธิ正定 ตั้งใจชอบ

ความไม่ประมาท คือ ปัจฉิมโอวาท หรือโอวาทสุดท้ายของพระพุทธเจ้าที่ว่า

“หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว, วยธมฺมา สงฺขารา, อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”
ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอพูดกับเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม