ปาต้วนจิ่น 八段锦 เริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง และแพร่หลายในหมู่ประชาชนจำนวนมาก การรำมวยดังกล่าวสามารถช่วยให้อวัยวะต่างๆ และภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรงขึ้น
ความหมาย
คำว่า ปา 八 หมายถึง หมายถึงแปด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกระบวนของท่าทั้ง 8
ต้วน 段 หมายถึง ท่อนหรือส่วน และ
จิ่น 锦 หมายถึง ท่าชุดที่ดีที่สุดแสดงถึงการฝึกและวิธีการฝึกที่กลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี
ดังนั้น ปาต้วนจิ่น 八段锦 จึงหมายถึง 8 กระบวนท่าที่ดีที่สุดในการฝึกเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง
ประโยชน์
แพทย์แผนจีนเชื่อกันว่า ร่างกายมนุษย์มีเส้นลมปราณ เชื่อมต่อไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นช่องทางที่เลือดและชี่จะวิ่งเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย จึงไม่ควรให้ลมปราณติดขัด การฝึก ปาต้วนจิ่น จะช่วยสามารถเพิ่มการไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณ เสริมภูมคุ้มกัน เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และกระดูก ฝึกสมอง เพิ่มความจำ และกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายใจ ขจัดลมปราณที่ติดขัด
ข้อเด่น การฝึก ปาต้วนจิ่น คือใช้เวลาน้อยในการฝึก ใช้พื้นน้อย ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือที่ทำงาน ก็สามารถฝึกได้ โดยใช้เวลาในการฝึกต่อรอบ ไม่เกิน 15 นาที ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ เพิ่มเติม สามารถทำได้ทุกเพศ ทุกวัย
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรฝึกหลังรับประทานอาหารทันที ควรฝึกหลังรับประทานอาหาร ไปแล้วอย่างน้อย 30 นาทีจึงเริ่มฝึก
- ควรสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย คล่องตัว เนื้อผ้าควรมีความ ยืดหยุ่น ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นขณะฝึก
- ควรฝึกในสถานที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
- ขณะมีไข้ไม่ควรฝึก
การหายใจขณะฝึกปาต้วนจิ่น
ควรหายใจให้ช้าและเข้าลึก อาจมีการกลั้นหายใจไว้สักครู่ แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออก หากหายใจอย่างถูกต้อง โดยให้นึกภาพว่าลมหายใจที่เข้าทางจมูกลงไปดันท้องให้โป่งพองออกมาเหมือนการเป่าลูกโป่ง เมื่อหายใจเข้าท้องพองและหายใจออกท้องยุบ หลักการเหมือนการนั่งภาวนาพองหนอยุบหนอ
ศาสตร์จีนเรียกว่า “การหายใจเข้า-ออกแบบตานเถียน” คือ การหายใจเข้า-ออกโดยชี่ผ่าน 3 ส่วนของร่างกาย ได้แก่ ส่วนบนบริเวณหน้าผากระหว่างคิ้ว ส่วนกลางบริเวณกลางหน้าอก และส่วนล่างบริเวณท้องน้อย
ท่าบริหารร่างกาย ปาต้วนจิ่น
ท่าเตรียม
ยืนตามธรรมชาติแยกขาทั้งสองให้เสมอ หัวไหล่แขนทั้งสองปล่อยทิ้งแนบข้างลำตัว
ท่าที่ 1 สองมือประคองแผ่นฟ้า 双手托天理三焦
- ค่อย ๆ ยกมือทั้งสองข้างหงายมือเสมือนถือของอยู่ในมือยกขึ้นวางระดับท้องน้อยแล้วยกขึ้นจนถึงระดับอกพลิกฝ่ามือออกด้านนอก
- ยกมือทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะจนสุดแขนตามองตามมือ หงายฝ่า มือขึ้นเหมือนยันฟ้า ขณะเดียวกันเขย่งเท้าส้น เท้าลอย พร้อมกับการหายใจเข้า
- พลิกฝ่ามือคว่ำลงมาค่อยๆวางฝ่ามือลงมาถึงระดับหน้าอก
- วางฝ่ามือไว้ข้างลำตัวระดับสะโพก พร้อมกับวางส้นเท้าลง และหายใจออก
ประโยชน์ เป็นการบริหารกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยการย่อยอาหาร ขจัดไขมันออกจากหน้าท้อง เหมาะสำหรับผู้ที่มีการย่อยอาหารไม่ดีและท้องผูกเป็นประจำ
ท่าที่ 2 ซ้ายและขวาง้างเกาทัณฑ์ 左右开弓似射雕
- จากท่าเตรียม ให้ก้าวเท้าซ้ายออกไปทางซ้าย ย่อเข่าให้ต่ำ คล้ายกำลังนั่งบนหลังม้า
- แขนสองข้างอยู ่ด้านหน้าไขว้กันเป็นรูปตัวเอ็กซ์ โดยแขนขวาอยู่ด้านใน และแขนซ้ายอยู่ด้านนอกจากนั้นเปลี่ยนมือทั้งสองกำหมัดต่อด้วยเปลี่ยนมือซ้ายนิ้วชี้ขึ้นทิศบนเหมือนกางปีกออก โดยนิ้วโป้งและนิ้วชี้กางออก
- วาดแขนซ้ายออกด้านข้างจนสุดตามองตามนิ้วมือซ้ายขณะเดียวกันมือขวาดึงออกในลักษณะง้างคันธนู
- กางมือออกไว้ด้านข้างลำตัววาดมือกลับเข้าหาตัว ขณะทำดึงขาซ้ายกลับเข้ามาท่าเตรียม
- ทำแบบเดียวกัน สลับซ้ายขวา
- เพิ่มการหายใจเข้าระหว่างทำท่า โดยขณะง้างคันธนูให้หายใจเข้าและลดมือยืดยืนให้หายใจออก
ประโยชน์ข ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ทำให้กล้ามเนื้ออกไหล่และแขนยืดหยุ่นได้ดีขึ้นและลดไขมัน ออกจากไหล่และต้นแขน ส่งเสริมพลังจิตและรักษาโรคนอนไม่หลับ
ท่าที่ 3 เปลี่ยนฟ้าดินให้ผกผัน 调理脾胃须单举
- จากท่าเตรียม หงายฝ่ามือวางมือสองข้างด้านหน้าท้องค่อย ๆ ยกขึ้นมาถึงระดับอก
- พลิกฝ่ามือขวาออกด้านนอกแล้วค่อย ๆ ยกขึ้นไปเหนือศีรษะลักษณะยันฟ้ามือเดียว (ปลายนิ้วไปทิศทางด้านซ้าย) ส่วนมือซ้ายพลิกคว่ำลงล่างวางลงด้านข้างสะโพก (ฝ่ามือทิศลงล่างปลายนิ้วชี้ไปด้านหน้า)
- หมุนแขนขวาออกด้านนอก หันฝ่ามือขวาเข้าหาหน้า, แขนซ้ายยกขึ้นผ่านท้องน้อยหยุดที่หน้าอกแขนทั้งสองข้างอยู่ระดับหน้าอกลักษณะไขว้กัน (แขนซ้ายอยู่ด้านใน)
- ยกแขนซ้ายขึ้นยันฟ้า แขนขวาค่อย ๆ วางลงข้างสะโพก (ขณะทำวาดแขนพร้อมกัน) ทำซ้ำสลับซ้าย-ขวา
- เพิ่มการหายใจขณะทำ โดยวาดแขนขึ้นอยู่ระดับหน้าอกให้หายใจเข้า วาดแขนลงมาระดับหน้าอกให้หายใจออก
- ท่าจบ คือแขนทั้งสองไขว้กันระดับหน้าอกพร้อมวาดแขนลงไว้ข้างลำตัวแล้วเข้าสู่ท่าเตรียม
ประโยชน์ ช่วยบริหารม้าม และกระเพาะอาหาร ถ้าทำท่านี้อย่างถูกต้องจะสามารถส่งการเคลื่อนไหวและความกดดันไปนวดกระเพาะอาหารและม้ามได้ ทำให้ระบบการย่อยทำงานได้เป็นปกติ
ท่าที่ 4 มังกรสวรรค์ผินพักต์มา 五劳七伤向后瞧
- จากท่าเตรียม กางแขนออกเล็กน้อย ค่อย ๆ หงายฝ่ามือออก พร้อมหันศีรษะด้านขวาไปด้านหลังจนสุดขณะหันสายตามองไปด้านหลังด้วยพร้อมกับการหายใจเข้า
- แล้วค่อย ๆ หันกลับมาทำหน้าตรง พร้อมกับการหายใจออก
- ทำแบบเดียวกัน สลับซ้าย-ขวา
ประโยชน์ ช่วยขจัดความเมื่อยล้าทั้งห้า ได้แก่ อาการเมื่อยล้า อันเกิดจากการนั่งนาน ใช้สายตาเป็นเวลานาน ๆ ยืนนานเดินนาน และนอน เป็นเวลานานเกิน และความบกพร่องทั้งเจ็ดอย่างที่กระทบอวัยวะ คือ 1) รับประทานอาหารมากเกินไป ทำให้ม้ามไม่ปกติ 2) อาการโกรธเคืองรุนแรงทำให้ชี่ไหลวนจนทำให้ไตเสื่อม 3) การใช้กำลังในการยกสิ่งของหรือการนั่งในที่เปียกชื้นอยู่นานกระทบไต 4) โดนความเย็นกระทบหรือทานน้ำเย็น ของเย็น ๆ ส่งผลต่อปอด 5) พักผ่อนน้อย ทำงานหนักเครียด ทำร้ายสภาพจิตใจ 6) ฤดูเปลี่ยนอากาศเปลี่ยนกระทบต่อสภาพร่างกาย และ 7) อาการกลัวมากระทบต่อสภาพอารมณ์
ท่าที่ 5 โยกศรีษะเคลื่อนกาย 摇头摆尾去心火
- จากท่าเตรียม ก้าวเท้าซ้ายออกไปด้านข้างและทำท่าเหมือนนั่งอยู่บนหลังม้า (กว้าง 2 ช่วงไหล่) วางมือไว้ที่ต้นขา
- หมุนลำตัวด้านบน โดยใช้เอวเป็นจุดหมุน หมุนบิดไปทางด้านขวาจนสุด จากนั้นค่อย ๆ ทิ้งหนักตัวไปที่ขาขวาก้มศีรษะลง ตามองลงปลายเท้าขวา พร้อมกับหายใจออก
- ก้มศีรษะหมุนไปทางด้านซ้าย พร้อมทิ้งน้ำหนักลงที่ขาซ้าย ตามองลงปลายเท้าขวา
- หมุนกลับมาตรงกลาง ในท่านั่งม้า พร้อมกับหายใจเข้า
- ทำสลับกัน ซ้าย-ขวา
ประโยชน์ ช่วยขจัดความเครียดความอึดอัดใจ ดับไฟในใจช่วยให้ร่างกายท่อนล่างสมส่วน ทำให้ขากับสะโพกแข็งแรงและกระชับ
ท่าที่ 6 กะเรียนขาวก้มดูดิน 两手攀足固肾腰
จากท่าเตรียม ยืนตรง
ค่อย ๆ ก้มลง โดยขาเข่าและแขนตรง มือทั้งสองแตะปลายเท้า หากแตะไม่ถึงอาจจับข้อเท้าแทนได้เงยหน้าขึ้นเล็กน้อย พร้อมกับหายใจออก
ค่อย ๆ เงยตัวขึ้นกลับสู่ท่าเตรียม พร้อมกับการหายใจเข้า แล้วนำมือสองข้างวางไว้เอวด้านหลัง
ค่อย ๆ เงยหน้าหงายหลังไปพร้อมกับหายใจเข้าแล้วก้มหัวกลับสู่ท่าลำตัวตรง แล้วหายใจออก
ประโยชน์ ท่านี้จะไปเคลื่อนไหวไต มีผลเป็นการนวดไตช่วยส่งเสริมการทำงานของไต ทำให้ไตแข็งแรง
ท่าที่ 7 พลังหมัดพิชิตเสือดาว 攥拳怒目增气力
- จากท่าเตรียม ก้าวเท้าซ้ายออกไปด้านข้างและทำท่าเหมือนนั่งอยู่บนหลังม้า กำหมัดโดย หงายฝ่ามือขึ้นวางไว้ข้างเอว
- ค่อย ๆ ชกหมัดด้านขวาออกไปด้านหน้า หมุนหมัดหงายขึ้น สายตามองตรงไปด้านหน้าพร้อมกับ การหายใจออกแล้วค่อยๆดึงหมัดกลับมาไว้ข้างเอว พร้อมกับการหายใจเข้า
- ทำแบบเดียวกับสลับซ้าย-ขวา
ประโยชน์ ช่วยเพิ่มความกระชุ่มกระชวยมีชีวิตชีวา เมื่อทำช้า ๆ จะส่งเสริมจิตและพลัง ท่านี้จะเคลื่อนไหวกล้าม
เนื้อทั้งร่างกาย ทำให้ร่างกายกระชับเกิดความแข็งแกร่ง
ท่าที่ 8 ดั่งลูกศรพุ่งสู่เป้า 背后七颠百病消
- จากท่าเตรียมเขย่งปลายเท้า ให้ส้นเท้าลอยขึ้น ยืดหัวขึ้นด้านบน พร้อมกับการหายใจเข้า
- ยกส้นเท้าลง พร้อมกับหายใจออก
- ทำซ้ำ
ประโยชน์ ท่านี้ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ช่วยให้หายเมื่อยล้า ป้องกันอาการท้องผูกและริดสีดวงทวารการหายใจเข้า เขย่งเท้าแล้วปล่อยให้ส้นเท้ากระแทกพื้นเบาๆ ทำให้เกิดความสั่นสะเทือนเบาๆแผ่ไปทั่วร่างกาย มีผลทำให้กายและใจผ่อนคลาย การสั่นสะเทือนขนาดเบาๆ ทั่วร่างกายจะกระตุ้นกระดูกสันหลังข้อต่ออื่น ๆ กล้ามเนื้ออวัยวะภายใน และการ หมุนเวียนของโลหิตทำให้หายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
ติดตามเรื่องเล่าจีนได้ที่ ช่อง Chinatalks และ Fanpage Chinatalks