ตุ้ยเหลียน 对联 คือ บทกลอนคู่ เป็นคำกลอนคู่ ที่มีความคล้องจองและมีความหมายสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน หากติดที่ประตู จะเรียกว่า เหมินเหลียน 门联 หรือหากเป็นกลอนตรุษจีน ต้อนรับปีใหม่ก็จะเรียกว่า ชุนเหลียน 春联 หรือกลอนตรุษจีน เนื่องจากคนจีนนิยมเปลี่ยนตุ้ยเหลียน แผ่นใหม่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ตุ้ยเหลียนมีหลักการว่า ทั้งสองบาทต้องมีจำนวนคำเท่ากัน เสียงสูงต่ำและการสัมผัสคล้องจอง มีการเล่นคำ และที่สำคัญคือต้องมีคติสอนใจ หรือมีความหมายที่เป็นมงคล
การใช้ตุ้ยเหลียน
ตุ้ยเหลียน สามารถใช้ได้ทั้งในงานมงคลหรืออวมงคล โดย ในงานมงคล ความหมายของตุ้ยเหลียนจะเป็นการอวยพร ส่วนหากเป็นงานศพ งานอวมงคล จะมีความหมายในเชิงไว้อาลัยต่อผู้จากไป
นอกจากนี้ หากมีแขกสำคัญมาเยี่ยมเยือน เจ้าบ้านก็มักนิยมเชิญให้แขกเขียนตุ้ยเหลียนไว้ให้เป็นที่ระลึก
การใช้สีของตุ้ยเหลียน
ตุ้ยเหลียนที่ใช้ในวันตรุษจีน มักใช้พื้นสีแดง ตัวอักษรสีทอง ในขณะที่งานอวมงคล จะใช้เป็นตัวอักษรสีดำบนพื้นขาว แต่สำหรับในสมัยจีนโบราณ สีของตัวอักษรที่ใช้จะเป็นสีดำ แต่ในภายหลัง คนนิยมใช้ตัวอักษรสีทอง เพื่อความเป็นสิริมงคล
ตำแหน่งของตุ้ยเหลียน
คนจีนนิยมติดตุ้ยเหลียนที่สองข้างประตูบ้าน และเหนือประตู นอกจากนี้ยังมีการติดตัวอักษร ฝู 福 กลับหัว และมีการติดรูปเทพเจ้าประตู อีกด้วย