เทศกาลล่าปา หรือล่าปาเจี๋ย 腊八节 เป็นวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน แต่เดิมในสมัยโบราณจะเรียกวันนี้ว่าเรียกว่า ล่า ยื่อ 腊日
ในสมัยดึกดำบรรพ์ คำว่า ล่า 腊 เป็นชื่อของพิธีกรรมเซ่นไหว้ ซึ่งพัฒนามาจากคำว่า เลี่ย 猎 หมายถึงการล่าสัตว์ เพราะช่วงท้ายปีพืชผลถูกเก็บเกี่ยวตากแห้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้คนจึงเข้าป่าล่าสัตว์สำหรับบูชาบรรพบุรุษและเทพเจ้า เพื่อขอให้มีโชคมีลาภ ชีวิตยืนยาว หลีกเลี่ยงภัยพิบัติและได้รับเป็นสิริมงคล จึงเรียกว่า ล่า จี้ 腊祭 หมายถึง พิธีเซ่นไหว้ด้วยสัตว์ที่ล่ามาได้
ความเป็นมา สำหรับความเป็นมาของเทศกาลล่าปานั้น มีเรื่องเล่าและที่มาหลากหลาย ได้แก่
การล่าสัตว์บูชาเทพเจ้าในช่วงปลายปี เป็นพิธีกรรมเก่าแก่ มีมาตั้งแต่สมัยยุคสามราชาห้าจักรพรรดิ โดยทำในช่วงฤดูหนาว เสร็จสิ้นงานไร่นา ในราชวงศ์เซี่ยเรียกกิจกรรมนี้ว่า เจียผิง-สันติสุขอันดีงาม ราชวงศ์ซาง เรียกว่า ซิงสื้อ-การเซ่นสรวงอันบริสุทธิ์ จนมาถึงราชวงศ์โจว เรียก ต้าล่า-การล่าสัตว์อันยิ่งใหญ่
ในยุคชุนชิว จ้านกั๋ว กล่าวว่า วันต้าล่า เป็นวันเซ่นไหว้เทพเจ้าประจำธรรมชาติ บรรพชน และเทพประจำบ้านทั้งห้า คือห้องโถง ประตูบ้าน ประตูห้อง บ่อน้ำ และเตาไฟ พอมาถึงในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ วันขึ้นแปดค่ำเดือนสิบสองตามจันทรคติของจีน ได้ถูกกำหนดให้เป็นล่าปาเจี๋ย 腊八节 อย่างเป็นทางการ
เทศกาลล่าปา เป็นเหมือนการโหมโรงสำหรับการขึ้นปีใหม่ ชาวจีนมักจะพูดว่า ผ่านวันล่าปาแล้วก็จะถึงเทศกาลตรุษจีน เมื่อถึงเทศกาลล่าปาเจี๋ย ผู้คนจะเริ่มเลือกซื้อสินค้าสำหรับปีใหม่ เริ่มเก็บกวาดบ้าน ตกแต่งบ้านเรือน กิจกรรมเด่นของเทศกาลล่าปา คือ การกินล่าปาโจว 腊八粥 โจ๊กสำหรับวันขึ้นแปดค่ำเดือนสิบสอง ซึ่งมีส่วนผสม ที่ทำจากธัญญาหารอย่างน้อย 8 ชนิด
วิธีการทำโจ๊กล่าปา นั้นมีสูตรแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่โดยทั่วไปแล้ว ข้าวถือเป็นส่วนประกอบหลัก และยังมีการผสมผลไม้แห้ง ธัญพืช และถั่วหลายชนิด ตัวอย่างของส่วนผสมในโจ๊กล่าปา เช่น ข้าวขาว ข้าวเหนียวดำ ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วแดง เม็ดบัว พุทราจีน เนื้อลำไยแห้ง มันเทศและเก๋ากี้ เป็นต้น
ในค่ำคืนวันขึ้น 7 ค่ำเดือน 12 แต่ละครอบครัวจะเตรียมล้างข้าวสาร พุทราแห้ง องุ่นแห้ง ธัญพืชต่างๆ รอถึงเที่ยงคืนแล้วนำส่วนผสมทั้งหมดมาต้มรวมกัน แล้วต้มด้วยไฟอ่อนข้ามคืน ถึงเช้าตรู่ของวันใหม่จึงถือว่าทำเสร็จเรียบร้อย
ตามประเพณีเก่าแก่ หลังจากต้มโจ๊กเสร็จแล้วต้องนำมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษและเทพเจ้าก่อน และแบ่งส่วนหนึ่งมอบแก่เพื่อนบ้าน หลังจากนั้นจึงนำมารับประทานร่วมกันในครอบครัว หากมีโจ๊กเหลืออยู่ก็สามารถเก็บค้างคืนรับประทานต่อได้อีกสองสามวัน หากบ้านใดมีโจ๊กล่าปาเหลือทานจากวันขึ้น 8 ค่ำก็ถือว่าเป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น เพราะแทนความหมายว่า ครอบครัวนั้นจะมี ‘เหลือกินเหลือใช้’ ตลอดทั้งปี
เทศกาลล่าปา กับความเชื่อของพุทธศาสนา
ตามคติของพุทธศาสนาแบบมหายานของจีน เล่าว่า เจ้าชายสิทธัตถะขณะกำลังบำเพ็ญทุกขรกิริยาจนกระทั่งสลบไป หญิงเลี้ยงวัวคนหนึ่งมาพบเข้าได้นำอาหารที่ติดตัวมาผสมกับนมวัวรวมกับผลไม้ป่าหลายชนิดป้อนให้เจ้าชายสิทธัตถะให้รับประทานจนกระทั่งฟื้นคืนสติ และได้ตรัสรู้ในคืนนั้นสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจีน
ส่วนตามพุทธประวัติฉบับจีน พระพุทธเจ้ามิได้ทรงประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน ในวันวิสาขะวันเดียวกัน แต่ทรงประสูติในวัน 8 ค่ำเดือนสี่จีน ตรัสรู้วัน 8 ค่ำ เดือนสิบสอง และนิพพานในวัน 15 ค่ำเดือนยี่
เดิมที เทศกาลล่าปา หรือ ล่าเจี๋ย มีความหมาย 3 ประการ คือ 1) ล่าสัตว์เซ่นไหว้เทพและบรรพชน 2) รับ หมายความคือ ส่งเก่ารับใหม่ และ 3) ขับไล่โรคภัย เมื่อคนจีนได้ผนวกเอาวัน เรื่องราวของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าตามพุทธประวัติจีน ในวันนี้จึงมีความหมายที่สี่คือ 4) วันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
เทศกาลล่าปา กับประวัติความเป็นมาของ “โจ๊ก”
ในยุคราชวงศ์หมิง (1368 -1644) เล่ากันว่าจูหยวนจาง ปฐมจักรพรรดิขณะยังมีสถานะเป็นสามัญชน เป็นผู้ที่มีความเป็นอยู่แร้นแค้นมาก วันหนึ่งได้ขุดรูหนูเพื่อจับหนูกิน แต่ได้ไปพบข้าวฟ่างและธัญพืชหลายชนิด จึงนำมาต้มรวมกัน เรียกว่า ล่าปาโจว 腊八粥 ข้าวต้มล่าปา ในประเทศไทยบางพื้นที่ออกเสียงคำว่า โจว เพี้ยนเป็นโจ๊ก จนมาถึงทุกวันนี้
วัฒนธรรมท้องถิ่นในเทศกาลล่าปา ในพื้นที่ท้องถิ่นของจีน ยังมีรูปแบบธรรมเนียมนิยมในการรับประทานอาหารในวันเทศกาลล่าปาที่แตกต่างกันไป เช่น ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในเขตชนบทของมณฑลอันฮุย ทุกครอบครัวจะทำเต้าหู้ล่าปาก่อนวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 ส่วนภาคเหนือของจีนบางพื้นที่มีความนิยมกินบะหมี่ล่าปา ที่ทำซอสด้วยผลไม้และผักชนิดต่างๆ ในช่วงเช้า
กระเทียมล่าปา ในพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในบริเวณกรุงปักกิ่ง เทียนจิน และตงเป่ยหรือบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะนิยมทำกระเทียมล่าปาในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 โดยจะนำกระเทียมแช่ลงไปในน้ำส้มสายชูจีนแล้วปิดภาชนะบรรจุให้แน่น วางตัวทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ในที่แห้งและเย็น กระเทียมจะค่อย ๆ กลายเป็นสีเขียว ไว้ทานกันในช่วงตรุษจีน กระเทียมล่าปาจะออกรสเปรี้ยวหวาน ไม่เผ็ด จึงได้รับความชื่นชอบจากผู้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ปกติไม่ชอบรสเผ็ดของกระเทียม
ความเป็นมาของกระเทียมล่าปานั้น เล่ากันว่า พ่อค้าทางภาคเหนือส่วนใหญ่จะชำระบัญชีก่อนวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 12 เพื่อไม่ให้หนี้สินค้างไว้ผ่านปีเก่าและเป็นสิริมงคลต่อปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ คำว่า กระเทียม ในภาษาจีนออกเสียงว่า ซ่วน 蒜 พ้องเสียงกับคำว่าที่มีความหมายว่า ซ่วน 算 แปลว่าคำนวน ดังนั้นในวันเทศกาลล่าปา เมื่อส่งกระเทียมล่าปาให้จึงเปรียบเทียบคำว่าชำระหนี้จนถึงยุคปัจจุบัน โดยถึงแม้ว่ากระเทียมล่าปาจะมีรสชาติดี แต่ชาวจีนแต่ละครอบครัวต้องทำเองที่บ้าน ไม่มีการขายกระเทียมล่าปาในร้านหรือตลาด เพราะว่า กระเทียมที่ทำแบบนี้หมายถึงการบังคับให้ชำระหนี้สิน
ติดตามเรื่องเล่าจีนได้ที่ Fanpage Chinatalks