พระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวง ปักกิ่ง

วัดหลิงกวง 灵光寺 เป็นวัดที่สำคัญที่สุดในปาต้าชู่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน วัดหลิงกวง มีความสำคัญในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว 1 ใน 2 ของโลก

วัดหลิงกวงตั้งอยู่ในส่วนที่แปดของภูเขาซีซานทางตะวันออกของภูเขาชุยเว่ย ในเขตฉือจิ่งซาน กรุงปักกิ่ง เป็นวัดพุทธโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,200 ปี วัดหลิงกวงเป็นวัดแห่งที่สองในปาต้าชู่ สร้างขึ้นในสมัยต้าหลี่ของราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 766 ถึง 779 ) เดิมชื่อวัดหลวงฉวน 龙泉寺 มันถูกขยายในราชวงศ์เหลียว และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดเจี๋ยซาน 觉山寺 ในสมัยราชวงศ์จิน จนถึงในปีที่ 15 ของรัชศกเฉิงฮั่ว ในสมัยราชวงศ์หมิงได้มีการบูรณะวัดใหม่ครั้งใหญ่ จากนั้นจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นหลิงกวง และชื่อวัดนี้ก็ถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้

วัดหลิงกวง ตั้งอยู่ที่เขตสือจิ่งซาน 石景山 ของกรุงปักกิ่ง มีชื่อเสียงระดับโลกในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วของพระศากยมุนีพุทธเจ้า

ทั้งนี้ เชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์ ดังนี้

พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา ในปัจจุบัน)
พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ แล้วเชื่อว่าถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน ประเทศจีน (ซีอาน) โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบัน พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง
พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค

เนื่องจาก พระเขี้ยวแก้วมีแค่ 2 องค์ในโลก และหนึ่งในนั้นอยู่ที่วัดหลิงกวง ทำให้วัดหลิงกวงได้กลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนิกชน ในการเดินทางมาสักการะพระเขี้ยวแก้ว ของชาวพุทธจีนและชาวพุทธทั่วโลก

พระเขี้ยวแก้วที่อยู่ในเมืองจีน ชาวจีนมักเรียกว่า “พระทันตธาตุฟาเหียน” เพราะ หลวงจีนฟาเหียน (พ.ศ.917-1103) เป็นสมณะจีนรูปแรก ที่ได้เดินทางไปสืบพระศาสนา เมื่อปี พ.ศ.942 ก่อนพระถังซัมจั๋งราว 230 ปี ได้อัญเชิญพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) องค์นี้มาสู่จีน

มีผู้กล่าวว่า พระทันตธาตุองค์นี้ได้ประดิษฐานครั้งแรกไว้ที่อาณาจักรโบราณแห่งหนึ่ง ชื่อว่า อูไดยานา ปัจจุบันอยู่ในเขตของประเทศปากีสถาน หลังจากนั้นก็มีการเคลื่อนย้าย มาอยู่ในแคว้นโคตัน (ปัจจุบันคือ จังหวัด ไฮเตียน มณฑลซินเกียง)

พระเขี้ยวแก้วได้ถูกย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง กลับไปกลับมาหลายเมือง จนกระทั่งสุดท้ายได้มาประดิษฐานอยู่ที่ เมืองเยนกิง (เมืองปักกิ่ง ในปัจจุบัน)

หลังจากนั้น มีพระภิกษุที่อยู่ภายในวัดได้มาทำ ความสะอาดบริเวณรอบพระเจดีย์ แล้วได้พบพระเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ในหีบศิลาอย่างถาวร อยู่ภายในห้องใต้ดินขององค์พระเจดีย์

บนตลับไม้กฤษณานั้นมีการระบุไว้ว่า ถูกนำมายัง ณ สถานที่นี้ในปี พ.ศ.1506 โดยพระภิกษุชื่อซ่านฮุย
ในยุคราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเป็นผู้ได้รับการขนานนามว่า “อาจารย์ผู้เก็บความลับ”

ตลับไม้กฤษณานี้ได้ รักษามาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งด้านข้างและด้านใน กล่องนั้นเป็นลายมือของหลวงจีนซ่านฮุย ซึ่งในตลับไม้นี้มีพระเขี้ยวแก้ว อยู่ด้านบน

ในที่สุดพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งได้ซ่อนเร้น มาเป็นเวลานานถึง 830 ปี ก็ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งในโลกมนุษย์

จากตำนานพระเขี้ยวแก้ว จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีพระเขี้ยวแก้วเพียง 2 องค์บนโลกมนุษย์เท่านั้น คือ “พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา” ประเทศศรีลังกา และ “พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย” ประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เคยอนุญาตให้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้ายไปประดิษฐานยังประเทศต่าง ๆ รวม 6 ครั้ง

โดยเมื่อปี พ.ศ.2545 พระเขี้ยวแก้วองค์นี้เคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวครั้งแรกในประเทศไทย ที่ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา 5 ธันวาคม 2545

และล่าสุดรัฐบาลได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วองค์นี้มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวอีกครั้ง ให้ประชาชนได้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากประเทศจีนมาถึงประเทศไทย ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เมื่อมาถึงได้มีการจัดพิธีทางศาสนา และอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 โดยมีการจัดริ้วขบวนอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์สู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงอย่างยิ่งใหญ่สวยงาม ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

จากนั้นวันที่ 5 ธันวาคม 2567- 14 กุมภาพันธ์ 2568 ประชาชนสามารถเข้ากราบสักการะองค์พระเขี้ยวแก้วได้ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในระหว่าง เวลา 07.00 – 20.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมดอกไม้สักการะ (ประชาชนไม่ต้องนำมาเอง) และมีโปสการ์ดพร้อมบทสวดบูชาพระเขี้ยวแก้วมอบให้ ซึ่งผู้ที่จะเข้าสักการะองค์พระเขี้ยวแก้วต้องนำบัตรประชาชนแสดงเพื่อยืนยันตัวตน

หลังจากนั้นจึงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วกลับคืนประเทศจีน ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อไป