หนังสือ เทพรัตนบรรณศิลป์ โดย ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุลหนังสือแสดงพระอัจฉริยภาพใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สารบัญ
ร้อยประกายฉายชัดพระอัจฉริยญาณ — ทรงปรีชาชำนาญจีนภาษา — ภูมิหลังด้านการศึกษาภาษาจีน ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี — ต้นฉบับลายพระหัตถ์พระราชนิพนธ์ — ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ — ภาพการ์ตูนและร่างการ์ตูนฝีพระหัตถ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย และวิศิษฏศิลปิน
เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๒ เมษายน ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ด้วยตระหนักในพระปรีชาสามารถในด้านศิลปวัฒนธรรม และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุเคราะห์สนับสนุนกิจกรรมอันเนื่องด้วยงานวัฒนธรรมของชาติเสมอมา โดยเฉพาะทรงเป็นแบบอย่างในการบําเพ็ญพระราชกรณียกิจ และพระราชจริยาวัตรในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เช่นวรรณศิลป์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษาไทย สถาปัตยกรรม ดนตรีไทยและพุทธศาสนา รวมทั้งได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการสร้างสรรค์และธํารงรักษามรดกของชาติให้ยั่งยืนตกทอดต่อไปถึงลูกหลาน
ในหนังสือ “เทพรัตนบรรณศิลป์” ของ รศ.ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล ได้กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระปรีชาสามารถแต่งคําประพันธ์ได้ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย แต่ทรงแต่งโคลงสี่สุภาพได้ดียิ่งเช่น เรื่องอยุธยา กษัตริยานุสรณ์ พุทธศาสนสุภาษิต เป็นต้น พระราชนิพนธ์ร้อยกรองที่มีอยู่จํานวนมากได้สะท้อนให้เห็นเด่นชัดถึงการทรงเป็นกวีและปราชญ์ทางภาษาแห่งรัตนโกสินทร์ร่วมสมัย ผู้ทรงสืบทอดความงามความชื่นชมแห่งวรรณศิลป์ไทยได้อย่างดีเลิศ และยังทรงเป็นตัวอย่างพิสูจน์ให้เห็นว่า การเป็นกวีนั้นผสานกลมกลืนกันระหว่าง “พรสวรรค์” และ “ความวิริยะในการฝึกฝน” เป็นศาสตร์และศิลป์อันสร้างสรรค์จากปัญญาและหัวใจร่วมกัน
ในด้านพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วนั้น ทรงเริ่มต้นเรียงร้อยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และทรงฝึกฝนเรื่อยมา ทรงเริ่มจากเรียงความสารคดี งานวิชาการสั้นๆ และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆตามลําดับความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้น พระราชนิพนธ์ร้อยแก้วที่มีอยู่มากคือ สารคดีเสด็จเยือนต่างประเทศ ซึ่งเรื่องแรกก็คือ “การเดินทางไปร่วมพิธีพระบรมศพพระเจ้ากุสตาฟที่ ๖ อดอล์ฟ”
นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชนิพนธ์ที่แปลจากภาษาจีน เช่น
นวนิยายเรื่อง ผีเสื้อ จากเรื่องหูเตี๋ย ของ หวังเหมิง นักประพันธ์ชื่อดังของจีน
หยกใสร่ายคํา อันเป็นกวีจีนโบราณจํานวน ๓๔ บท เป็นต้น
จากพระราชกระแสในสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ. 2523 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจึงทรงตัดสินพระทัยศึกษาภาษาจีนแทนภาษาเยอรมัน โดยทรงมีพระอาจารย์ภาษาจีนคนแรก คือ ศาสตราจารย์จังเยี่ยนชิว แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ท่านเชี่ยวชาญทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ อาจารย์จังเยี่ยนชิวเน้นการฝึกฝนการออกเสียงก่อนสอนให้รู้จักตัวอักษรจีน ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงศึกษาภาษาจีนได้เกือบหนึ่งปี จึงได้เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2524 ทรงรู้ภาษาจีนพอสมควร เมื่อเสด็จ ฯ กลับมา ทรงศึกษาภาษาจีนกับพระอาจารย์คนใหม่ คือ จี้หนานเซิง ผู้ซึ่งถวายพระอักษรภาษาจีนโดยให้ทรงแปลบทกวีนิพนธ์จีนและถวายความรู้เรื่องจิตรกรรมจีน พระอาจารย์คนที่สาม คือ อาจารย์ฟู่อู่อี้ ซึ่งได้ถวายการสอนการอ่านทำนองเสนาะบทกวีจีน ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2523-2547 ทรงมีพระอาจารย์สอนภาษาจีนรวม 11 คน
แม้ว่าจะต้องทรงเรียน ๆ หยุด ๆ บ้าง แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็ไม่เคยทรงท้อถอย ทรงใฝ่พระทัยและทรงพากเพียรอย่างสม่ำเสมอ เคยมีพระราชปรารถว่า “ภาษาจีนนี่ยาก” เพราะ ประการแรก ทรงเรียนเมื่อพระชนมายุย่างเข้า 26 สมองไม่แจ่มใสเหมือนช่วง 10 กว่า แต่ถึงจะยาก ก็ทรงสนพระทัยที่จะเรียน ประการที่สอง งานมาก ไม่สามารถเรียนอย่างต่อเนื่อง ประการที่สาม ทรงมิได้อยู่ในชุมชนแวดล้อมที่ใช้ภาษาจีน พอเรียนเสร็จ พ้นจากอาจารย์ก็พูดภาษาไทย ที่หัดพูดและที่เรียนในห้องเรียนก็ลืมไปมาก แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ทิ้ง เรียนมาจนถึงทุกวันนี้
เป็นที่รู้ทั่วกันว่า ภาษาจีนไม่ใช่เรียนกันได้ง่าย ๆ อาจารย์ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ เคยเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่การเรียนภาษาจีนได้รับความนิยมขึ้นมานั้น มีคนอยากจะเรียนกันมาก ๆ และก็มีอยู่มากที่เรียนไปนิดหนึ่งก็ล้มเลิกเสียกลางคัน เกิดความท้อแท้ เรียนไม่สำเร็จ
แต่ด้วยหลักธรรมแห่งอิทธิบาทสี่ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทรงบรรลุผลสำเร็จ ปัจจุบันทรงพูดภาษาจีนได้ดี อ่านได้คล่อง จนมีพระราชนิพนธ์แปลวรรณกรรมจีนทั้งร้อยแก้ว และ ร้อยกรอง
— หนังสือ เทพรัตนบรรณศิลป์
พระนาม ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่เขียนเป็นภาษาจีน เป็นการทับศัพท์ด้วยเสียงภาษาจีนให้ใกล้กับพระนาม สิรินธร ภาษาจีนใช้ ซือหลินทง ตัวอักษรจีนเขียนนั้นใช้คำว่า ซือ 诗 ที่แปลว่า บทกวี หลิน 琳 แปลว่าหยกสวยงาม ทง 通 แปลว่า ปราดเปรื่อง รวมความแล้ว แปลว่า ผู้เชี่ยวชาญในบทกวีและเรื่องหยก
ลายสือศิลป์พู่กันจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในการเขียนหนังสือจีนด้วยพู่กัน ดังลายสือฝีพระหัตถ์ที่เขียนว่า “เซิ่ง โซ่ว อู๋ เจียง” แปลว่า “ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” ที่ประดับเด่นเป็นสง่า ณ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา ณ บริเวณวงเวียนโอเดียน
ที่มา บทความ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย และวิศิษฏศิลปิน โดย กระทรวงวัฒนธรรม