อู่ตังซาน 武当山 หรือ เขาบู๊ตึ๊ง ตั้งอยู่ในมณฑลหูเป่ย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A ของจีน และได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติจากองค์การยูเนสโก้ ในปี 1997
อู่ตังซาน เป็นเทือกเขาที่มีความสำคัญของเต๋า เล่ากันว่าปรมาจารย์เจินอู่หรือเทพเจ้าเสวียนอู่ ตามความเชื่อของเต๋า ได้บำเพ็ญเพียรบนยอดเขาแห่งนี้ จนสำเร็จเป็นเซียน
เขาบู๊ตึ๊งได้กลายมาเป็นแหล่งฝึกวิชาและเข้าฌานของนักพรตเต๋าหลายสำนักมาหลายยุคหลายสมัย และยังเป็นที่กำเนิดสุดยอดวิชากังฟูไทเก๊กที่โด่งดัง
สถาปัตยกรรมบนเขาบู๊ตึ๊ง เป็นสิ่งก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน หลายยุคหลายสมัยเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หยวน เรื่อยมากระทั่งราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง โดยเขตโบราณสถานบนเขาบู๊ตึ๊ง มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 321 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยส่วนที่เป็นหมู่ตึกโบราณซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และส่วนที่เป็นทิวทัศน์ธรรมชาติ เช่น สระน้ำ, บ่อน้ำพุร้อน, ถ้ำ, หน้าผาและยอดเขารวมกว่าร้อยแห่ง
อู่หลงกง 五龙宫 ตำหนักห้ามังกร เป็นสถาปัตยกรรมแรกที่สร้างขึ้นท่ามกลางอาคารโบราณในภูเขาบู๊ตึ. เริ่มต้นสร้างในสมัยถังไท่จง แห่งราชวงศ์ถัง จากนั้นได้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน และการก่อสร้างสถาปัตยกรรมบนยอดเขาบู๊ตึ๊งที่รุ่งเรืองที่สุด คือในยุคจักรพรรดิ์ย่งเหล่อ แห่งราชวงศ์หมิง
ตำหนักทองหรือจินเตี้ยน 金殿 บนยอดเขาบู๊ตึ๊ง ถือเป็นสถานที่สถิติของ เทพเจ้าเสวียนเทียนซั่งตี้ 玄天上帝 หรือตั่วเหล่าเอี๊ย ตั้งอยู่บนตำแหน่งที่สูงที่สุดของยอดเขา
ตามประวัติบันทึกไว้ว่า ตำหนักทองหลังนี้ สูง 5. 54 เมตร กว้าง 4.4 เมตรและลึก 3.15 เมตร สร้างจากทองแดงน้ำหนัก 20 ตันและทองคำ 300 กิโลกรัม มีการสร้างขึ้นที่กรุงปักกิ่ง และมีการขนย้ายโดยการล่องมาตามคลองหลวงต้ายุ่นเหอ จนถึงนครหนานจิง แล้วเข้าสู่แม่น้ำฉางเจียงและฮั่นเจียง จากนั้น จึงใช้กำลังพลแบกหามขึ้นมาจนถึงยอด วางประดิษฐานลงบนแท่นหินขนาดใหญ่
ภายในตำหนักทอง มีองค์เทพเจ้าเสวียนเทียนซั่งตี้ 玄天上帝 ที่ว่ากันว่า ถอดแบบมาจากองค์จักรพรรดิหย่งเล่อผู้ทรงโปรดให้สร้าง ส่วนด้านหน้ามีตะเกียงโคมโบราณสมัยราชวงศ์หมิงที่เปลวไฟที่ไม่เคยดับ ด้านล่างมีรูปงูพันเต่า สัญลักษณ์ขององค์เทพเจ้าเสวียนเทียนซั่งตี้ 玄天上帝 โดยมีกำแพงจื่อ จินเฉิง 紫金城 ล้อมรอบอยู่ด้านล่าง เพื่อพิทักษ์องค์ตำหนักให้ยืนยงอยู่ชั่วนิรันดร์
สิ่งที่น่ามหัศจรรย์คือ โดยธรรมชาติของสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในที่สูงนั้น โอกาสที่จะถูกฟ้าผ่านั้นมีสูงมาก แต่ที่วิหารทองซึ่งสร้างจากทองแดงและทองคำ ซึ่งเป็นวัสดุล่อฟ้าอย่างดี กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อฟ้าผ่าลงมาแล้วสายฟ้าจะวนภายนอกวิหารแล้วสลายไป ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์
ตำหนักผาใต้ หรือหนานเหยียนกง 南岩宫
เป็นสถานที่เจ้าชายเจินหวู่ ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ในตำหนักนี้มีกระถางธูปหัวมังกร หลงโถวเซียง 龙头香 อันดับหนึ่งในใต้หล้า อยู่ตรงหน้ากับตำหนักทองบนยอดจินติ่ง
หน้าผาสี่อักษร
เต๋ามุ่งเน้นที่ความมีอายุยืนยาว ความสุข และความสงบในชีวิตนี้ บนกำแพงหินของตำหนักผาใต้ บนภูเขาอู่ตัง มีตัวอักษรสะดุดตา 4 ตัวสลักไว้บนหน้าผา คือ “อายุยืน ความสุข สุขภาพแข็งแรง และความสงบ”
กระถางธูปหัวมังกร หลงโถวเซียง 龙头香 ชาวจีนเชื่อว่าการได้ขึ้นไปปักธูปที่กระถางธูปหัวมังกร หลงโถวเซียง 龙头香 ถือเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง เนื่องจากมองจากแท่นหินหัวมังกรไปอีกด้านจะเห็น วิหารทอง ซึ่งถือว่าเป็นวิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดตามความเชื่อของเต๋า
ตำหนักเมฆม่วง จื่อเซียวกง 紫霄宫
ตำหนักจื่อเซียวกง สร้างตามแบบแผนผังของพระราชวังกู้กง กรุงปักกิ่ง และยังเก็บรักษาความสมบูรณ์แบบตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง ตำแหน่งของแต่ละตำหนักสร้างเป็นแนวเส้นตรง มีหอกลองหอระฆัง และตำหนักปีกซ้ายขวา เช่นเดียวกับพระราชวังกู้กง แบบย่อส่วน
กำแพงรูปอักษร 八 หรือแปดในภาษาจีน
ลำธารจินสุ่ย กำแพงรูป 八 สุดยอดภูมิลักษณ์ทางเข้าด้านหน้าตำหนักจื่อเซียวกง
หอห้าเมฆ 五云楼 ไท่จื่อพอ 太子坡
ไท่จื่อพอ สร้างขึ้นในปีที่ 10 ของรัชสมัยหย่งเล่อในราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1412) ได้รับการบูรณะสามครั้งในรัชสมัยจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง มีห้องจำนวน 105 ห้อง ครอบคลุมพื้นที่ 1,600 ตารางเมตร
สถาปัตยกรรมของไทจื่อพอใช้ประโยชน์จากทางลาดแคบ ๆ ใต้หินสูงชัน จัดวางเป็นแนวตั้งและแนวนอน ล้อมรอบด้วยกำแพงสีแดงและทางเดินคดเคี้ยว ซึ่งผสานรวมตัวอาคารเข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างใกล้ชิด
วัดเต๋าแห่งนี้เป็นวัดเต๋าที่สมบูรณ์ที่สุดที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้บนภูเขาอู่ตัง โดยมีสิ่งมหัศจรรย์ 4 ประการ ได้แก่ “ประตู 4 บานในระยะทาง 1 ลี้ กำแพงแม่น้ำเหลือง 9 โค้ง หนึ่งเสาสิบสองคาน และกลิ่นหอมของดอกหอมหมื่นลี้ที่หอมฟุ้งทั่วระยะทาง 10 ลี้”
สถานที่ตั้งของหนึ่งเสาสิบสองคาน 一柱十二梁 งานสถาปัตยกรรมโบราณอันโด่งดัง ของหอห้าเมฆ 五云楼 เนื่องจากที่ตั้งเดิมของหอห้าเมฆ เป็นทางลาดชัน ในการก่อสร้าง จึงคิดวิธีแก้ปัญหาด้วยการสร้างเสาเดียวและคานสิบสองอัน
ติดตามท่องเที่ยวจีนได้ที่ Fanpage Chinatalkstravel