ในสมัยโบราณชาวจีนเห็นว่าตึกหรือหอสูงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นโดยมากหอโบราณของจีนจึงสร้างขึ้นโดยเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางชั้นสูงเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป อาทิ เพื่อประโยชน์ทางการทหาร ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ หรือเพื่อประกาศคุณงามความดี หรือแม้แต่เพื่อใช้เป็นการปราบอาถรรพณ์ปีศาจชั่วร้าย บ้างก็สร้างอุทิศให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพนับถือแห่งตน โดยในปัจจุบันได้กลายเป็นจุดชมทิวทัศน์ธรรมชาติ
ในแดนเจียงนาน หรือ ดินแดนทางตอนล่างของแม่น้ำแยงซีเกียงของจีน มีหอโบราณซึ่งเป็นที่รู้จักเลื่องลือกัน 3 แห่ง ซึ่งได้ชื่อว่า 3 หอแห่งดินแดนเจียงหนาน 江南三大名楼 ได้แก่
หอเถิงหวัง 滕王阁
ที่ตั้ง : อยู่ริมฝั่งแม่น้ำกั้นเจียง เมืองหนันชาง มณฑลเจียงซี
แรกสร้างสมัยต้นราชวงศ์ถัง ปี ค.ศ. ๖๕๓ ในรัชกาลถังเกาจงหลี่ยวน โดยเถิงหวังหลี่หยวนอิง (น้องชายของหลี่ซื่อหมิน) ได้สร้างหอเถิงหวังขึ้นระหว่างที่มาดำรงตำแหน่งแม่ทัพรักษาเมือง ด้วยจุดประสงค์ให้เป็นหอระวังไฟ และเป็นสถานที่พักผ่อนชมทิวทัศน์ในฤดูกาลต่างๆ
ต่อมาในปี ค.ศ. ๖๗๕ หวังป๋อ (ค.ศ. ๖๕o – ๖๗๕) หนึ่งในสี่กวีอัจฉริยะแห่งราชวงศ์ถังตอนต้น ได้เดินทางมาเยือนหอเถิงหวัง และได้ประพันธ์บทกวีชื่นชมความงามเอาไว้ เนื่องจากบทกวีดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา จึงทำให้ชื่อเสียงความงามของหอเถิงหวังเป็นที่รู้จักทั่วไปในแผ่นดิน ปราชญ์กวีเลื่องชื่ออีกจำนวนไม่น้อยต่างเคยเดินทางมาเยี่ยมเยือนสถานที่นี้
หอเถิงหวังผ่านศึกสงครามทำลายล้างและสร้างใหม่ถึง ๒๙ ครั้ง ซึ่งไม่เพียงรักษาต้นแบบอย่างโบราณเอาไว้ การซ่อมสร้างแต่ละครั้งยังมีขนาดขยายใหญ่ขึ้น โดยครั้งสุดท้ายถูกเผาทำลายระหว่างสงครามปฏิวัติในปี ๑๙๒๖ จวบถึงปี ๑๙๘๓ เริ่มงานซ่อมสร้างครั้งใหญ่ แล้วเสร็จในปี ๑๙๘๙ หอเถิงหวังใหม่มีอาณาบริเวณกว่า ๔๗,ooo ตารางเมตร สูง ๕๗.๕ เมตร ๙ ชั้น โดยเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยซ่ง มีขนาดและความสูงที่สุดในสามหอแห่งแดนกังหนำ
หอกระเรียนเหลือง 黄鹤楼
ที่ตั้ง : หอเดิมตั้งอยู่ที่ผากระเรียนเหลือง หอใหม่ ตั้งอยู่ที่เขาเสอซัน เขตอู่ชาง เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย
หอกระเรียนเหลืองแรกสร้างสมัยสามก๊ก ใน ค.ศ. ๒๒๓ ภายหลังก๊กอู๋ยึดได้เมืองจิงโจวหรือเกงจิ๋ว โดยก๊กอู๋สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นหอสังเกตการณ์ ป้องกันการโจมตีจากก๊กสูของเล่าปี่
แต่เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับที่มาของหอกระเรียนเหลืองซึ่งเป็นที่แพร่หลาย กล่าวกันว่าสถานที่ตั้งเดิมของหอกระเรียนเหลืองเป็นร้านเหล้าเล็ก ๆ ที่เปิดเป็นที่พักคนแรมทาง ครั้งหนึ่งเจ้าของร้านได้ให้อาหารและที่พักแก่นักพรตที่แต่งกายซ่อมซ่อท่าน หนึ่งโดยไม่คิดเงิน นักพรตนั้นจึงใช้เปลือกส้มวาดเป็นรูปกระเรียนสีเหลืองที่ผนังร้าน เมื่อปรบมือขึ้นครั้งหนึ่ง ภาพกระเรียนบนฝาผนังก็จะออกมาร่ายรำอย่างงดงาม นักพรตได้มอบกระเรียนเหลืองนี้ไว้เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจเจ้าของร้าน นับแต่นั้นก็มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนทางร้านกันคับคั่ง เพื่อมาดูการแสดงของกระเรียนเหลือง กิจการของร้านเฟื่องฟูร่ำรวยขึ้น สิบปีต่อมานักพรตนั้นกลับมาอีกครั้ง และเมื่อกระเรียนเหลืองออกมาจากผนัง นักพรตก็ขึ้นขี่กระเรียนบินจากไป เจ้าของร้านจึงสร้างหอกระเรียนเหลืองขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณของนักพรตนั้น
หอกระเรียนเหลืองเป็นแหล่งรวมของบรรดาปราชญ์กวีและปัญญาชนจากทั่วทุกสารทิศ ซึ่งก็ได้ฝากผลงานบทกวีที่มีชื่อไว้ไม่น้อย ในจำนวนนี้มีผลงานของชุยเฮ่า 崔颢 ปราชญ์สมัยถัง ได้แต่งบทกวีเกี่ยวกับความงามสง่าของหอแห่งนี้ รวมทั้งคำเล่าขานของหอกระเรียนเหลืองนี้เอาไว้อย่างละเอียด จนกลายเป็นต้นแบบให้กวีในรุ่นหลังได้ศึกษาต่อมา จวบจนปี ๑๘๘๔ รัชสมัยจักรพรรดิกวงสูแห่งราชวงศ์ชิง เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ หอกระเรียนเหลืองถูกเผาทำลายลง
ในปี ๑๙๕๗ เนื่องจากได้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแยงซีที่ผากระเรียนเหลือง ณ ที่ตั้งเดิมของหอกระเรียนเหลืองไปแล้ว ดังนั้น ในปี ๑๙๘๔ เมื่อรัฐบาลจีนใหม่ประจำอู่ฮั่น มีโครงการสร้างหอกระเรียนเหลืองขึ้นใหม่ เนื่องในโอกาสครบรอบร้อยปีที่หอกระเรียนเหลืองถูกเผาทำลายไปเมื่อครั้งสมัยจักรพรรดิกวงสูแห่งราชวงศ์ชิง จึงต้องย้ายหอกระเรียนเหลืองไปปลูกสร้างยังที่ตั้งใหม่บนยอดเขาเสอซัน
หอกระเรียนเหลืองในปัจจุบัน สร้างขึ้นด้วยปูนและเหล็กเลียนแบบโครงสร้างแบบไม้ที่เป็นของเดิม เป็นหอห้าชั้น สูง ๕๑ เมตร ระหว่างชั้นยังมีชั้นแทรก รวมทั้งสิ้นเป็นสิบชั้น ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองอู่ฮั่น
หอเย่หยาง 岳阳楼
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่ริมฝั่งทะเลสาบต้งถิง* เมืองเย่หยาง มณฑลหูหนาน
ทะเลสาบต้งถิง เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่เป็นที่สองในประเทศจีน (เดิมมีขนาด ๖,ooo ตร.กม. เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุด ภายหลังเนื่องจากนโยบายขยายพื้นที่เพาะปลูกของภาครัฐ อีกทั้งการสะสมของตะกอนดิน เมื่อถึงปี ๑๙๘๖ พื้นที่ทะเลสาบหดเล็กลงเหลือเพียง ๒,๖๒๕ ตร.กม. เป็นรองจากทะเลสาบพานหยังในมณฑลเจียงซีซึ่งมีขนาด ๓,๙๑๔ ตร.กม.)
แรกสร้างในสมัยสามก๊ก (ค.ศ. ๒๑๕) ในดินแดนของก๊กอู๋ ภายใต้การนำของซุนกวน ได้สร้างหอนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นหอสังเกตการณ์ป้องกันการโจมตีของกวนอูจาก เมืองจิงโจว (เมืองเกงจิ๋ว) ก๊กสู มีชื่อว่า “หอส่องทัพ” สมัยจิ้นตะวันตกได้ชื่อว่าเป็น “หอเมืองปาหลิง” เมื่อถึงสมัยถัง ภายหลังงานประพันธ์ของหลี่ไป๋เป็นที่แพร่หลายก็รู้จักกันในนาม “หอเย่หยาง” จัดเป็นหอโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในสามหอแห่งดินแดนเจียงหนาน
หอเย่หยาง เป็นสถานที่ชมธรรมชาติยอดนิยมของบรรดาปราชญ์กวีมีชื่อในสมัยถัง อาทิ ตู้ผู่ หานอี้ว์ ไป๋จีว์อวี้ หลี่ซังอิ่น เป็นต้น เมื่อถึงปี ๑o๔๕ ขุนนางเถิงจื่อจิงแห่งราชวงศ์ซ่งเหนือได้ทำการซ่อมสร้างครั้งใหญ่ และขอให้ฟ่านจงเยียนที่เป็นปราชญ์และนักปกครองแห่งยุคได้เขียน “บันทึกหอเย่หยาง” เอาไว้ ชื่อเสียงของหอเย่หยางจึงขจรขจายเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
เมื่อกล่าวถึง “บันทึกหอเย่หยาง” ที่ชั้นที่หนึ่งและสองของหอเยี่ยว์หยัง ยังประดับด้วยบทกวีดังกล่าวที่สลักบนไม้จันทน์ ด้วยข้อความและลายมือที่เหมือนกันราวฝาแฝด แต่ชิ้นหนึ่งจัดทำขึ้นในราวศตวรรษที่ ๑๘ อีกชิ้นหนึ่งจัดทำขึ้นในศตวรรษที่ ๑๙ กล่าวกันว่าชิ้นหนึ่งเป็นลายมือของจางเจ้า ปราชญ์ราชเลขาฯ สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ภายหลังมีขุนนางท้องถิ่นคนหนึ่งต้องการแสดงความสามารถเชิงอักษรของตน จึงเลียนแบบลายมือของจางเจ้า จัดทำ “บันทึกหอเย่หยาง” ขึ้น แต่นายช่างที่แกะสลักงานชิ้นนี้ไม่พอใจการกระทำของขุนนางนั้น จึงแกะสลักอักษรตัวหนึ่งให้ผอมบางเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถแยกจากต้นฉบับได้ ขุนนางนั้นได้ปลดผลงานของจางเจ้าลงมา เปลี่ยนเป็นผลงานของตนเอง จากนั้นนำใส่เรือเพื่อขนย้ายไปที่อื่น แต่เรือก็มาล่มจมลงเสียก่อน ขุนนางที่ไปกับเรือจมน้ำเสียชีวิต ผลงานของจางเจ้าถูกงมขึ้นมาจากก้นทะเลสาบต้งถิง และถูกนำกลับมาประดับไว้ที่หอเยี่ยว์หยังอีกครั้ง ดังนั้นหอแห่งนี้จึงประดับด้วยผลงานแกะสลักที่เหมือนกันสองชิ้น
ปัจจุบัน หอเย่หยาง ถือเป็นสถาปัตยกรรมเพียงหนึ่งเดียวในสามหอแห่งดินแดนเจียงหนานที่ยังมีโครงสร้างเป็นไม้ตามแบบสถาปัตยกรรมแบบเก่า (หลังการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยชิงแล้วร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ผ่านศึกสงครามหลายครั้งแต่ไม่เสียหาย) บูรณะครั้งหลังสุดในปี ๑๙๘๔ แม้ว่าหอมีความสูงเพียงสามชั้น มีขนาดเล็กกว่าหอเถิงหวังและหอกระเรียนเหลือง แต่ถือได้ว่าเป็นหอที่ยังคงรักษาสภาพบรรยากาศแบบเก่าเอาไว้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ที่สุด