พระโอวาทของพระอรหันตจี้กง

จี้กง เป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ซ่งตอนปลาย

เรื่องราวของพระจี้กงได้ถูกกล่าวขานกันมาอย่างยาวนาน เป็นที่ชื่นชอบและเคารพรักจากชาวบ้านมานานกว่าพันปี โดยเฉพาะบุคลิกภาพของจี้กงที่เทศนาสั่งสอนชาวบ้านอย่างตลกขบขันและตรงไปตรงมา และมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด ผิดแผกแตกต่างจากพระภิกษุองค์อื่น ทำให้เรื่องราวของพระจี้กงเป็นที่จดจำเป็นอย่างดี แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมานาน

ชาวบ้านให้ฉายาแก่จี้กงว่า จี้เตียนเหอซ่าง 济顛和尚 หมายถึง พระสติฟั่นเฟือน หรือพระบ้า เนื่องจากจี้กง เป็นพระที่ไม่มีความสำรวม ไม่เคร่งในพระธรรมวินัย ไม่ยึดติดกับกฏเกณฑ์ใด ๆ ทั้งดื่มเหล้า รับประทานเนื้อสัตว์ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าเก่า ๆ ทั้งสกปรกและขาดวิ่น แม้แต่หมวกสงฆ์บนศรีษะและพัดที่ถือติดตัวอยู่เสมอก็เก่าขาดปุปะ

แต่ก็มีผู้ยกย่องจี้กงเป็น จี้กงหัวฝอ 济公活佛 หมายถึง จี้กงพุทธะที่มีชีวิต (เป็นคำอุปมาเปรียบพระจี้กงว่า เป็นเสมือนดั่งพระพุทธศาสนาที่มีชีวิตชีวาและคงความอมตะ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้โดยไม่จำกัดอยู่กับกาลเวลา)

นอกจากนี้ยังมีผู้เรียกท่านว่า เต้่าจี้ฉานซือ (道济禅师) หมายถึง พระอาจารย์เซนเต้าจี้

พระจี้กงมีจิตใจอันเที่ยงธรรม มีพฤติกรรมอันทรงคุณธรรมอย่างมาก โดยตลอดชั่วชีวิตของท่าน ได้มีเรื่องราวและตำนานเล่าถึงการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก

จี้กงเป็นพระที่สามารถเข้าถึงชาวบ้าน จนสามารถเทศนาสั่งสอนให้ชาวบ้านนับถือพุทธศาสนากันอย่างกว้างขวาง

กล่าวกันว่า บทเทศนาของพระจี้กงมีความตรงไปตรงมา ทำให้ชาวบ้านซึ่งด้อยความรู้และการศึกษา สามาถเข้าถึง แก่นแท้แห่งพระธรรม ได้อย่างแท้จริง โดยไม่ยึดติดกับเปลือกนอก ดังเช่น พฤติกรรมและการแต่งตัวของจี้กงนั่นเอง

แม้ว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ของจี้กงจะถูกตำหนิและไม่ยอมรับกันในหมู่สงฆ์ แต่กระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า จี้กงเป็นพระอริยสงฆ์ที่เป็นที่เคารพศรัทธาจากประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

รูปเคารพของ จี้กง ทั้งในภาพวาดและประติมากรรม มักถ่ายทอดบุคลิกภาพอันสนุกสนานร่าเริงของท่าน ส่วนใหญ่จึงมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส แม้จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอันแสนซอมซ่อและเก่าขาด แต่แววตาและสีหน้าของจี้กงมักแฝงไว้ด้วยความเมตตากรุณาอยู่เสมอ แสดงออกถึงการละทิ้งซึ่งกิเลสทั้งปวง รวมทั้งหลายครั้งที่ท่านมักมีการแสดงออกด้วยท่าทางที่แปลกประหลาด แต่ในทางกลับกันนั้น กริยาและท่าทางดังกล่าว แท้จริงคือ การปล่อยวางและสอนให้มนุษย์อย่ายึดติดแต่เพียงภายนอก


ประวัติความเป็นมาของจี้กง

มีบันทึกไว้อย่างชัดเจน ท่านเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1130 ในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่งตอนปลาย หรือซ่งใต้ ที่หมู่บ้านหย่งหนิง ตำบลเทียนไถ เมืองไถโจว มณฑลเจ้อเจียง มีชื่อเดิมสมัยเป็นฆารวาสว่า หลี่ซิวหยวน 李修缘 บ้างว่าชื่อ หลี่ซินหยวน 李心缘 บิดาคือ หลี่เม่าชุน 李茂春 มารดาคือ นางหวางซื่อ 王氐

เมื่ออายุได้ 18 ปี ได้กราบพระฮุ่ยหยวนเป็นอาจารย์และตัดสินใจออกบวชตลอดชีวิตที่วัดหลิงอิ่น (灵隱寺) เมืองหางโจว จนได้รับฉายาทางสงฆ์ว่า เต้าจี้ (道济)

เมื่อครองเพศบรรพชิต พระเต้าจี้ มักปล่อยตัวตามสบายไม่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทั้งดื่มสุราและชมชอบกินเนื้อสุนัข พูดจาโผงผางไม่สำรวม นานวันเข้า จีวรก็ขาดวิ่นสกปรก แต่ท่านเต้าจี้ก็สวมใส่อยู่เช่นนั้น แม้แต่หมวกสงฆ์และพัดก็เก่าขาดไม่น่าดู ทำให้พระสงฆ์รูปอื่น ๆ พากันรังเกียจเดียดฉันท์และตำหนิติเตียน

มีเรื่องเล่ากันว่า มีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งพากันไปร้องเรียนถึงพฤติกรรมของพระเต้าจี้กับพระอาจารย์ของท่านคือพระฮุ่ยหยวน ซึ่งพระอาจารย์ฮุ่ยหยวนได้แต่ตอบสั้น ๆ เพียงว่า “ประตูแห่งพุทธะออกจะกว้างใหญ่ ไหนเลยจะมีพระเพี้ยน ๆ อีกสักรูปไม่ได้”

อีกตำนานเล่ากันว่า มีพระเพี้ยน ๆ รูปหนึ่งเรียกกันว่า จี้เตียน 济顛 ภายหลังพระอาจารย์ฮุ่ยหยวนมรณภาพ ก็ถูกพระรูปอื่น ๆ ขับไล่ไสส่ง ท่านจี้เตียนจึงได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดจิ้งฉื่อ 净慈寺 และใช้วิชาทางการแพทย์ของท่านให้การรักษาชาวบ้านโดยไม่คิดเงิน ด้วยฝีมือแพทย์อันล้ำเลิศได้ช่วยชีวิตชาวบ้านไว้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งชาวบ้านพากันซาบซึ้งใจและนับถือศรัทธาในตัวท่าน

ตลอดชีวิตของจี้กงที่ได้ปฏิบัติตนมา สร้างความศรัทธาให้แก่ชาวบ้านอย่างกว้างขวาง มีผู้เลื่อมใสและหันมานับถือพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งมีตำนานพิศดารกล่าวว่า พระจี้กงนั้นแท้จริงก็คือ พระอรหันต์เสียงหลง หรือ เสียงหลงหลอฮั่น 降龙罗汉 (อรหันต์ปราบมังกร) 1 ใน 18 อรหันต์ที่กลับชาติมาเกิดใหม่

เรื่องราวของพระจี้กงยังมีการรวบรวมเขียนขึ้นอย่างเป็นระบบในสมัยราชวงศ์ชิง เรียกกันว่า ประวัติรวมของท่านจี้กง 济公全传 และเป็นต้นฉบับสำหรับการศึกษาประวัติของจี้กงมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ข้อคิดจากคติคำสอนของจี้กงเป็นวิถีทางตามแบบคำสอนในนิกายเซน (ฌาน) เพราะความดีความชั่วไม่ได้ตัดสินเพียงเปลือกนอก ความงามหรืออัปลักษณ์ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะความดีความชั่ว ความงดงามหรืออัปลักษณ์ ต่างล้วนมาจากจิตใจมนุษย์เป็นผู้กำหนดทั้งสิ้น

อ่านแล้วเก็บรักษา     บุญรักษาเนืองนองรู้แล้วบอกทั่วกัน     บุญกุศลเรืองรอง  
1    ชีวิตย่อมเป็นไปตามลิขิต (ละชั่วทำดี)      วอนขออะไร
  2    วันนี้ไม่รู้เหตุการณ์ในวันพรุ่งนี้              กลุ้มเรื่องอะไร
  3    ไม่เคารพพ่อแม่แต่เคารพพระพุทธองค์     เคารพทำไม
  4    พี่น้องคือผู้ที่เกิดตามกันมา                    ทะเลาะกันทำไม
  5    ลูกหลานทุกคนล้วนมีบุญตามลิขิต          ห่วงใยทำไม
  6    ชีวิตย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จ         ร้อนใจทำไม
  7    ชีวิตใช่จะพบเห็นรอยยิ้มกันได้ง่าย         ทุกข์ใจทำไม
  8    ผ้าขาดปะแล้วกันหนาวได้                     อวดโก้ทำไม
  9    อาหารผ่านลิ้นแล้วกลายเป็นอะไร            อร่อยไปใย
10    ตายแล้วบาทเดียวก็เอาไปไม่ได้              ขี้เหนียวทำไม
11    ที่ดินคือสิ่งที่สืบทอดแก่คนรุ่นหลัง           โกงกันทำไม
12    โอกาสจะได้กลายเป็นเสีย                      โลภมากทำไม
13    สิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เหนือศีรษะเพียง 3 ฟุต      ข่มเหงกันทำไม
14    ลาภยศเหมือนดอกไม้ที่บานอยู่ไม่นาน    หยิ่งผยองทำไม
15    ทุกคนย่อมมีลาภยศตามวาสนาที่ลิขิต       อิจฉากันทำไม
16    ชีวิตลำเค็ญเพราะชาติก่อนไม่บำเพ็ญ       แค้นใจทำไม (บำเพ็ญไวไว)
17    นักเล่นการพนันล้วนตกต่ำ                เล่นการพนันทำไม
18    ครองเรือนด้วยความประหยัดดีกว่าไปขอพึ่งผู้อื่น    สุรุ่ยสุร่ายทำไม
19    จองเวรจองกรรมเมื่อไรจะจบสิ้น               อาฆาตทำไม
20    ชีวิตเหมือนเกมหมากรุก                        คิดลึกทำไม
21    ฉลาดมากเกินจึงเสียรู้                            รู้มากทำไม
22    พูดเท็จทอนบุญจนบุญหมด                   โกหกทำไม
23    ดีชั่วย่อมรู้กันทั่วไปในที่สุด                    โต้เถียงกันทำไม
24    ใครจะป้องกันมิให้มีเรื่องเกิดขึ้นได้ตลอด   หัวเราะเยาะกันทำไม
25    ฮวงซุ้ยที่ดีอยู่ในจิตไม่ใช่อยู่ที่ภูเขา            แสวงหาทำไม
26    ข่มเหงผู้อื่นคือทุกข์ รู้ให้อภัยคือบุญ          ถามโหรเรื่องอะไร
27    ทุกสิ่งจบสิ้นลงด้วยความตาย                    วุ่นวายทำไม