มหาปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (สันสกฤต: प्रज्ञापारमिताहृदय, สันสกฤต-โรมาไนซ์ : Prajñāpāramitā Hṛdaya) คือพระสูตรที่สำคัญและเป็นที่นิยมยิ่งในพุทธศาสนา

ชื่อ “ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” มีความหมายตามตัวอักษรว่า “พระสูตรอันเป็นหัวใจแห่งปฏิปทาอันยวดยิ่งแห่งความรู้แจ้ง” ในภาษาอังกฤษมักแปลโดยสังเขปว่า “หฤทัยสูตร” (The Heart Sūtra)

พระสูตรนี้มักได้รับการยอมรับว่าเป็นพระสูตรที่มีผู้รู้จักและนิยมที่สุดมากกว่าพระสูตรใดของพุทธศาสนา (ฝ่ายมหายาน เซน, ตันตระ, วัชระญาณ)

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรเป็นออกเป็นโศลกภาษาสันสกฤตจำนวน 14 โศลก แต่ละโศลกมี 32 อักขระ ส่วนพระสูตรที่ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนโดยพระเสวียนจั้ง (ถังซำจั๋ง) มีทั้งหมด 260 ตัวอักษรจีน ในภาษาอังกฤษมักแปลออกมาได้จำนวน 16 บรรทัด นับเป็นพระสูตรในหมวดปรัชญาปารมิตาที่มีขนาดกระชับที่สุด เนื่องจากพระสูตรในหมวดนี้มักมีขนาดยาว

โดยสังเขปแล้วพระสูตรนี้พรรณนาถึงการบรรลุธรรมของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อันเกิดจากการเพ่งวิปัสนาอย่างล้ำลึก จนบังเกิดปัญญา (ปรัชญา) ในการพิจารณาเล็งเห็นว่าสรรพสิ่งต่าง ๆ ล้วนว่างเปล่าและประกอบด้วย ขันธ์ 5(ปัญจสกันธะ) อันได้แก่ รูป, เวทนา, สัญญา (สังชญา), สังขาร (สังสการ) และวิญญาณ(วิชญาน)

般若波罗蜜多心经

观自在菩萨,行深般若波罗蜜多时,照见五蕴皆空,度一切苦厄。
舍利子,色不异空,空不异色。
色即是空,空即是色。受、想、行、识,亦复如是。
舍利子,是诸法空相,不生不灭,不垢不净,不增不减。
是故空中无色,无受、想、行、识;无眼、耳、鼻、舌、身、意;无色、声、香、味、触、法;无眼界,乃至无意识界;无无明,亦无无明尽,乃至无老死,亦无老死尽;无苦、集、灭、道;无智亦无得。
以无所得故,菩提萨埵,依般若波罗蜜多故,心无挂碍。
无挂碍故,无有恐怖,远离颠倒梦想,究竟涅槃。
三世诸佛,依般若波罗蜜多故,得阿耨多罗三藐三菩提。
故知般若波罗蜜多,是大神咒,是大明咒,是无上咒,是无等等咒,能除一切苦,真实不虚。
故说般若波罗蜜多咒,即说咒曰:揭谛揭谛,波罗揭谛,波罗僧揭谛,菩提萨婆诃。

(บทสวดมนต์ของพระโพธิสัตว์กวนอิม)
(สูตรหัวใจหรือสูตรที่เป็นหัวใจแห่งโลกุตรปัญญา)
(สูตรที่เป็นหัวใจแห่งปัญญาของการหลุดพ้น)

ขอนอบน้อมแด่พระแม่ปรัชญาปารมิตาพระพุทธมารดา
ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์
พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ และพระโพธิสัตว์จำนวนมาก
ก็ในสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสแสดงธรรมโดยปริยายแล้ว
ได้ทรงธำรงอยู่ในสมาธิชื่อว่า คัมภีรโอภาส

ณ เวลาเดียวกันนั้นแล พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ทรงคุณอันประเสริฐพระผู้เป็นมหาสัตว์
ได้บำเพ็ญอยู่ซึ่งปรัชญาปารมิตาภาวนาอันละเอียดลึกซึ้งจนหยั่งลงเห็นขันธ์ ๕
โดยสภาวะความหมายแห่งความเป็นศูนย์

ขณะนั้นแลด้วยพุทธานุภาพแห่งพระพุทธองค์
ได้ดลบันดาลให้พระสารีบุตรกล่าวถามพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ทรงคุณอันประเสริฐว่า
หากแม้นมีกุลบุตรกุลธิดาผู้ใดปรารถนาความรู้แจ้ง
ประสงค์จะบำเพ็ญปรัชญาปารมิตาภาวนาอันลึกซึ้งนี้
เธอผู้นั้นพึงฝึกฝนภาวนาอย่างไร?

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงคุณอันประเสริฐ
พระผู้เป็นมหาสัตว์ได้กล่าวตอบพระสารีบุตรว่า
ท่านสารีบุตร! หากกุลบุตรกุลธิดาผู้ใดปรารถนาความรู้แจ้ง
ประสงค์จะบำเพ็ญปรัชญาปารมิตาภาวนาอันลึกซึ้งนี้
เธอผู้นั้นพึงฝึกฝนภาวนาให้เกิดญาณหยั่งเห็นขันธ์ ๕
เป็นสภาวะแห่งความหมายอันเป็นศูนย์ท่าน

สารีบุตร! รูปนี้มีความหมายเป็นศูนย์ ความเป็นศูนย์นั้นแลปรากฏเป็นรูป
ความเป็นรูปมีค่าไม่ต่างจากความเป็นศูนย์
และความเป็นศูนย์ก็มีความหมายไม่ต่างจากความเป็นรูป
รูปเป็นเช่นไร ศูนย์ก็เป็นเช่นนั้น
ศูนย์มีความหมายอย่างไร รูปก็มีความหมายอย่างนั้น
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นเช่นเดียวกันนั้นแล

ท่านสารีบุตร! สังขตธรรมทั้งปวงมีลักษณะเป็นศูนย์
คือ ไม่มีเกิดขึ้น ไม่มีดับไป ไม่มัวหมอง ไม่ผ่องแผ้ว ไม่พร่อง ไม่เต็ม
ท่านสารีบุตร ! เพราะเป็นเช่นนี้แล
ในศูนยตาวิหารธรรมจึงไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ
ไม่มีตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ
ไม่มีรูป-เสียง-กลิ่น-รส-กายสัมผัส-ธรรมารมณ์
ไม่มีจักษุธาตุ ไปจนถึงไม่มีมโนวิญญาณธาตุ
ไม่มีวิชชาและไม่มีอวิชชา ไม่มีความแก่และความตาย
ไม่มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
ไม่มีญาณ ไม่มีการบรรลุและไม่มีการไม่บรรลุ

ท่านสารีบุตร ! เพราะพระโพธิสัตว์ธำรงอยู่ในศูนยตาวิหารธรรมเช่นนี้แล
จิตจึงปราศจากธรรมอันเป็นเครื่องห่อหุ้ม (อาวรณธรรม)
และเมื่อจิตปราศจากธรรมอันเป็นเครื่องห่อหุ้ม
จึงไม่มีความวิปลาสอันเป็นเหตุให้เกิดความหวั่นไหวหวาดกลัว ถึงแล้วซึ่งนิพพานอันมั่นคง

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในกาลทั้งสาม เมื่อบำเพ็ญให้สมบูรณ์แล้วซึ่งปรัชญาปารมิตา
จึงได้บรรลุถึงซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

เพราะฉะนั้น กุลบุตร กุลธิดา ผู้ปรารถนาความรู้แจ้งพึงรู้เถิดว่า ปรัชญาปารมิตานี้
เป็นมหามนตรา
เป็นมหาวิทยามนตรา
เป็นอนุตรมนตรา
เป็นมนตร์ที่ไม่มีมนตร์อื่นใดเสมอเหมือน
เป็นมนตร์แห่งความเป็นจริงอันไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ที่สามารถดับสลายทุกข์ทั้งปวงได้

ดังนั้นจงบริกรรมภาวนาบทมนตร์แห่งปรัชญาปารมิตานี้ว่า

โอม คเต คเต ปารคเต ปารสังคเต โพธิ สวาหา

ท่านสารีบุตร ! พระโพธิสัตว์ผู้หวังรู้แจ้งพึงบำเพ็ญปรัชญาปารมิตาภาวนาอย่างนี้แล

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากคัมภีรโอภาสมาธิ
แล้วได้ประทานสาธุการแก่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรว่า
สาธุ… สาธุ… ชอบแล้ว… ถูกแล้ว…
กุลบุตรกุลธิดาผู้ปรารถนารู้แจ้ง พึงบำเพ็ญปรัชญาปารมิตาภาวนาอย่างนี้แล
พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ย่อมอนุโมทนาสรรเสริญความหมายที่ท่านยกขึ้นมาแสดงไว้ดีแล้วนี้

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธดำรัสจบแล้ว
พระสารีบุตร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า
พร้อมทั้งมนุษย์และเทวดา อสูร ครุฑ คนธรรพ์ ต่างมีจิตเบิกบาน

ชื่นชมพุทธภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประการฉะนี้

ที่มา : 1 | 2 | 3

…..

อานิสงส์ที่จากการสวดมนต์ภาวนา ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร

  1. เพื่อเพิ่มพูนสติปํญญาให้สามารถเห็นแจ้งในธรรมะ
  2. เพื่อการบรรลุภาวะการเป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม
  3. เพื่อการตรัสรู้และการบรรลุนิพพานโลกธาตุในที่สุด

สำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เดินทางเสี่ยงต่ออันตราย หรือ เผชิญภาวะฉุกเฉิน และ ต้องการตั้งสติขจัดความตื่นกลัวออกไปโดยเร็ว ควรบริกรรม โดยใช้บทสวดมนต์ย่อว่า

“คะเต คะเต ปาระคะเต ปาระสังคะเต โพธิสวาหา”

ซ้ำหลาย ๆ ครั้ง

ท่านพระถังซำจั๋ง กล่าวว่า ท่านสวดบทนี้เมื่อท่านอยู่ในภาวะคับขันในการเดินทางข้ามทะเลทราย ท่านเชื่อว่าทำให้มีสติตั้งมั่น เกิดปํญญา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง