พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ หรือผู่เสียนผูซ่า 普贤菩萨 ในสำเนียงแต้จิ๋วนิยมเรียกว่า โผวเฮี้ยงผ่อสัก พระนามของพระองค์ หมายถึง ผู้เจริญโดยรอบ ผู้ประเสริฐโดยรอบ
วันคล้ายวันสมภพ พระสมัตรภัทรมหาโพธิสัตว์ ตรงกับวันที่ 21 เดือน 2 ตามปฏิทินจันทรคติจีน
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ทรงเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระศากยมุนีพุทธเจ้า ในขณะที่พระมัญชุศรีโพธิสัตว์เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย ดังนั้น ในคตินิยมทางพุทธศิลป์จึงนิยมการสร้างประติมากรรมหรือจิตรกรรมรูปพระศากยมุนีพุทธเจ้า พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ สามองค์ เรียกว่า ฮั่วเหยีนซานเซิ่ง 华严三 圣
ในคติความเชื่อของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ตัวแทนแห่งการกระทำแต่ความดี พระโพธิสัตว์แห่งวิถีคุณธรรม เป็นสัญลักษณ์ธรรมปฏิบัติ
รูปเคารพพระองค์ มักมีพระวรกายสีทองอร่าม พระหัตถ์ขวาถือก้านบัว หมายถึงผู้ตื่นจากความหลง พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าปางประทานพร ทรงมีพาหนะคือ ช้างเผือกหกงา มีความหมายถึงสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่
พระปณิธานของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์
ในพระสูตรกล่าวว่า พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ได้รับการยกย่องในฐานะพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีจริยาวัตรงดงาม โดยทรงมีปณิธาน 10 ประการ ได้แก่
- เคารพพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
- ยกย่องพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
- สักการบูชาพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
- สารภาพความผิดที่ทำมาในอดีตทั้งหมด
- ตั้งมุทิตาจิต อนุโมทนาในความดีและความเจริญของผู้อื่น
- วิงวอนให้พระพุทธเจ้าสั่งสอนธรรม
- วิงวอนให้พระพุทธเจ้าสถิตอยู่ในโลก
- ปฏิบัติตามหลักธรรมสม่ำเสมอ
- ช่วยเหลือสรรพสัตว์เป็นนิจ
- อุทิศความดีที่ตนทำไว้เพื่อความรู้แจ้งและเพื่อบุคคลอื่น
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ณ ภูเขาเอ๋อเหมย (ง๊อไบ๊)
เชื่อกันว่า พระสมันตภัทรโพธิสัตว์สถิตอยู่ ณ ภูเขาเอ๋อเหมย 峨眉山 หรือเขาง๊อไบ๊ ในมณฑลเสฉวน หนึ่งในสี่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อพุทธศาสนาจีน โดย ประติมากรรมรูปพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ขนาดใหญ่ ไปปางประทับนั่งบนช้างหกงา ประดิษฐานตั้งอยู่บนยอดเขาที่สูงที่สุด ซึ่งเรียกว่า จินติ๋งซือฟาง 金顶十方
ติดตามเรื่องเล่าจีนได้ที่ ช่อง Chinatalks และ Fanpage Chinatalks