พระมัญชุศรีมหาโพธิสัตว์ เหวินซูผู่ซ่า 文殊菩萨 หรือบุ่งซู๊ผ่อสัก เป็นพระโพธิสัตว์ฝ่ายปัญญาและมีหน้าที่คุ้มครองนักปราชญ์
พระมัญชุศรีมหาโพธิสัตว์ มีประวัติความเป็นมาหลากหลายตำนาน บ้างก็ว่า ท่านเคยเป็นพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า บ้างก็ว่า พระมัญชุศรีมหาโพธิสัตว์ ถือกำเนิดในแคว้นแห่งหนึ่งของอินเดีย ภายหลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระมัญชุศรีมหาโพธิสัตว์ ก็ออกบวชเป็นพระพุทธสาวกในพุทธศาสนา
วันคล้ายวันสมภพของพระมัญชุศรีมหาโพธิสัตว์ คือวันที่ 4 เดือน 4 ตามปฏิทินจีน
ฮั่วเหยียนซานเซิ่ง 华严三圣
พระมัญชุศรีมหาโพธิสัตว์ ทรงเป็นพระอัครสาวกเบื้องของพระศากยมุนีพุทธเจ้า มักปรากฏคู่กับพระพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ วโดยพระมัญชุศรีอยู่บนสิงโตเขียวส่วนพระสมันตภัทรโพธิสัตว์อยู่บนช้างสีขาว
พระนาม
ชาวจีนส่วนใหญ่นิยมเรียกพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ว่าเหวินซูผูซ่า อันเป็นการเรียกแบบแปลความหมายของพระนาม ไม่ใช่การเรียกทับศัพท์
เหวิน 文 หมายถึง อักษร หรือ หนังสือ
ซู 殊 หมายถึง พิเศษหรือสิ่งอัศจรรย์
หมายถึง พระองค์ทรงเป็นตัวแทนแห่งปัญญาและความคิดอันปราดเปรื่อง
ส่วนพระนามของพระองค์ ม่านซู 曼殊 มาจากภาษาสันสกฤตว่า มัญชุ (Manju) แปลว่า ไพเราะ, อ่อนหวาน
ส่วนคำว่า ซือลี่ 师利/室利 มาจากภาษาสันสกฤต ศรี (Sri) แปลว่า มงคล, รุ่งเรือง
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ จึงหมายถึงพระโพธิสัตว์แห่งความรุ่งเรืองและอ่อนโยน หรือ พระโพธิสัตว์แห่งความไพเราะทรงเป็นตัวแทนของปัญญาบารมี และเชื่อกันว่า พระองค์จะคอยคุ้มครองพิทักษ์นักปราชญ์และผู้มีปัญญาความรู้ให้เจริญก้าวหน้า
พุทธลักษณะ
พุทธลักษณะของพระองค์นั้นจะสร้างแตกต่างกันตามคติความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นและแต่ละชนชาติ
ในคติแบบจีนนั้น บ้างสร้างให้พระองค์ถือหยกหรูอี้ 如意 ไว้ในพระหัตถ์ซ้าย ฝ่าพระหัตถ์ขวายกขึ้นประทานพร เป็นความหมายถึงการมอบความสุขสมหวังประทานให้
อีกแบบหนึ่งนั้น จะสร้างให้พระหัตถ์ข้างขวาถือไว้ด้วย กระบี่ หรือ พระขรรค์ สัญลักษณ์แห่งการตัดทิ้งอวิชชา และนิวรณ์ทั้ง 5 อันได้แก่
๑. กามฉันทะ (พอใจในกาม)
๒. พยาบาท (คิดร้าย)
๓. ถีนมิทธะ (หดหู่เซื่องซึม)
๔. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
๕. กุกกุจจะ (ความกระวนกระวายใจ)
เป็นปริศนาธรรมที่แฝงถึง การมีปัญญาเป็นดั่งอาวุธ ในขณะที่พระหัตถ์ซ้ายจะประคองถือคัมภีร์ มหาปรัชญาปารมิตาสูตร หรือ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่ามุทรา เหนือพระเศียรทรงเทริด “มหาโพธิชญาณมงกุฏ” เป็นรูปบัว 5 กลีบเรียงกัน โดยมี พระอักโษภยะพุทธเจ้า อยู่เหนือมงกุฎนั้น.
หรือบางความเชื่อสร้างเป็นรูปดอกบัว อันเป็นความหมายแห่งบุญญาบารมีหรือความรู้แห่งตน
สัญลักษณ์รูปพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ เหวินซูผูซ่า
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ มักประทับนั่งบนหลังราชสีห์สีน้ำเงิน หรือสีเขียว มีความหมายถึง ความเป็นเลิศแห่งปัญญาและการแสดงธรรมโดยไม่หวาดเกรงต่อผู้ใด
ราชสีห์นั้นเป็นตัวแทนแห่งอำนาจและความยิ่งใหญ่ มีความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว อีกทั้งเสียงคำรามนั้นนอกจากจะเป็นที่หวาดเกรงต่อหมู่มารแล้ว ยังเป็นเสมือนการประกาศพระศาสนาออกไปไกลแสนไกลดั่งเสียงคำรามก้องของราชสีห์ เพื่อให้ชาวโลกตื่นขึ้นจากความเขลา
ในทิเบตให้ความสำคัญและยกย่องนับถือในองค์พระมัญชุศรีโพธิสัตว์เป็นอย่างมาก รวมทั้งในอินเดีย เนปาล ภูฏาน
ที่มาของชื่อชนเผ่าแมนจู
ในสมัยโบราณนั้น นูรฮาจี (Nurhaji) ผู้นำแห่งชนเผ่าหนี่เจิน หรือจูเชิน(Jurchen) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เป็นผู้หนึ่งที่ให้ความศรัทธาในองค์พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ต่อมา นูรฮาจี ยกกำลังกองทัพของตนเข้าพิชิตราชวงศ์หมิงลงได้ พระองค์ได้ประกาศสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นแทนที่ และประกาศเปลี่ยนชื่อเรียกชนเผ่าของตนจากคำว่า “หนี่เจิน” มาเป็น “แมนจู” (Manchu) ซึ่งคำว่า “แมนจู”นั้น ออกเสียงมาจากคำว่า “มัญชุ” นั่นเอง
ในประเทศจีนเชื่อกันว่า พระมัญชุศรีโพธิสัตว์สถิตอยู่ ณ เทือกเขาอู่ไถซาน 五台山 หรือชื่อเดิมของภูเขาคือ ชิงเหลียงซาน 清凉山 เทือกเขานี้ตั้งอยู่ในเขตมณฑลซานซี ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 ขุนเขาศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
กล่าวกันว่า ณ เทือกเขาศักดิ์สิทธิ์อู่ไถซาน จะประกอบขึ้นด้วย 5 ยอดดอย อันได้แก่ อวั้งไห่เฟิง, กั้วเยี่ยเฟิง, จิ่นซิ่วเฟิง,เยี่ยโต้วเฟิง และชุ่ยเอี๋ยนเฟิง ซึ่งยอดดอยทั้ง 5 นี้ล้วนแต่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 2,485-3,058 เมตร ปัจจุบันกลายมาเป็นเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งประเทศจีน
อ้างอิงจาก : หนังสือ 108 สิ่งมิ่งมงคลจีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล