เจิ้งเหอ ขันทีผู้ยิ่งใหญ่

เจิ้งเหอ (ค.ศ. 1371-1433) เดิมชื่อว่า หม่า เหอ เกิดในครอบครัวชาวมุสลิมที่เมืองคุนหยาง มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน มีชื่อตามแบบชาวมุสลิม ที่เป็นภาษาอาหรับว่า “ฮัจญ์ มาห์มุด ซัมซ์” (Hajji Mahmud Shams)

บรรพบุรุษของเจิ้งเหอนั้นเป็นคนเชื้อสายเปอร์เซียเผ่าเซมูร์ (Semur) ต่อมาได้อพยพย้ายเข้ามาอาศัยในแผ่นดินจีนช่วงสมัยราชวงศ์หยวน และได้ปรับเปลี่ยนชื่อแซ่เป็นแบบธรรมเนียมจีนในเวลาต่อมาโดยใช้หม่า เป็นแซ่ของตระกูล เพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตในจีน ส่วนแซ่เจิ้ง เป็นแซ่ที่ได้รับพระราชทานในภายหลัง

ในปีรัชศกหงอู่ที่ 14 (ค.ศ. 1381) รัชสมัยจักรพรรดิหมิงไท่จู่ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ได้ทรงยกทัพมากวาดล้างกองกำลังของมองโกลแห่งราชวงศ์หยวนที่ยังปักหลักอยู่ในแถบยูนนาน โดยมีแม่ทัพฟูโหย่วเต้อ เป็นผู้ควบคุมบัญชาการ ท่ามกลางความวุ่นวายของสงคราม เจิ้งเหอที่ขณะนั้นมีวัยเพียง 10 ปี ต้องตกเป็นเชลยศึกของกองทัพหมิง ต่อมาในปี ค.ศ. 1368 ถูกตอนเป็นขันที ทำงานรับใช้ในราชสำนักขององค์ชายจูตี้ ซึ่งต่อมาได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่

หม่า เหอได้สร้างความดีความชอบไว้มาก โดยเฉพาะการช่วยให้จูตี้ได้ก้าวขึ้นคลองบัลลังก์เป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ ในที่สุด หม่า เหอ ก็ได้รับการเลื่อนฐานะขึ้นเป็นหัวหน้าขันที และได้พระราชทานแซ่ “เจิ้ง” จึงกลายมาเป็น”เจิ้งเหอ” หรือที่รู้จักกันในนาม “ซำปอกง”

และเนื่องจากการที่เจิ้งเหอเป็นบุคคลที่จูตี้ให้ความไว้วางใจมากที่สุด ทั้งจากการเป็นขันที่คนสนิท และความดีความชอบในการหนุนจูตี้ขึ้นสู่บัลลังก์ จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการกองเรือขนาดใหญ่ออกเดินทางไปในมหาสมุทรอันกว้างไกล

เล่ากันว่า นอกจากจะเป็นการเดินทางเพื่อประโยชน์ทางการค้า การเผยแพร่ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรจีนแล้ว ยังแฝงไว้นัยสำคัญทางการเมืองและการสืบราชบัลลังก์ ค้นหาร่องรอยของอดีตจักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ เพื่อสร้างความมั่นคงและมั่นใจแก่ราชบัลลังก์ของจูตี้ ว่าหมิงฮุ่ยตี้จะไม่มาเป็นหอกข้างแคร่อีกต่อไป

การเดินทางออกสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ของเจิ้งเหอ 7 ครั้งในรอบ 28 ปี เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว กองเรือและการเดินทางของเจิ้งเหออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเดินเรือของโลก นำมาซึ่งความสำเร็จทางการทูตและทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวจีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเอเชียอาคเนย์ อินเดีย และแอฟริกา แต่บันทึกเรื่องราวการเดินทางที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยตรงแทบไม่มีหลงเหลืออยู่เลย ความรุ่งเรืองทางทะเลของจีนก็จบสิ้นลงพร้อมกับการจากไปของเจิ้งเหอผู้ยิ่งใหญ่