สุยหู่จ้วน 水浒传 108 ผู้กล้าเขาเหลียงซาน

ซ้องกั๋ง 宋江 สุยหู่จ้วน 水浒传 108 ผู้กล้าเขาเหลียงซาน ถือเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน

เนื้อหาของเรื่องกล่าวถึง ในรัชสมัยของฮ่องเต้ซ่งฮุ่ยจง ในช่วงปลายราชวงศ์ซ่งเป็นยุคกังฉินครองเมือง มีโจร 108 คนซึ่งมารวมตัวกันอยู่ ณ เขาเหลียง เพื่อตั้งกองทัพ

โดยตัวละครทั้ง 108 คนนั้นมีประวัติความเป็นมาแทบจะเหมือนกันหมด คือ ถูกขุนนางกลั่นแกล้ง กดขี่ข่มเหง ทำให้แต่ละคนลี้ภัยออกจากเมืองของตัวเอง แล้วมารวมตัวกัน ณ เขาเหลียง เพื่อปราบปรามขุนนางชั่ว โดยผู้นำคนสำคัญของกลุ่มผู้กล้าเขาเหลียง คือ ซ่งเจียง (ซ้องกั๋ง)

ซ่งเจียง (ซ้องกั๋ง) เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ พงศาวดารราชวงศ์ซ่ง บันทึกเรื่องราวกบฏซ่งเจียงเอาไว้ว่า

ในปีที่ 3 แห่งศักราชเซวียนเหอ ปี 1164 ในรัชกาลพระเจ้าซ่งฮุยจง ปลายราชวงศ์ซ่งเหนือ ซ่งเจียงและพวกรวม 39 คน เป็นผู้นำกลุ่มโจรกบฏ เคลื่อนไหวอยู่แถบหวยหยาง จิงตงและเหอเป่ย

ราชสำนักส่งกำลังมาปราบแต่กลุ่มกบฏมีกำลังกล้าแข็งมาก ขุนนางชื่อโหวเหมิงเคยถวายฎีกาว่าซ่งเจียงมีความสามารถ ทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้ซ่งเจียง และเสนอให้ส่งซ่งเจียงไปปราบกบฏฟังล่าซึ่งเป็นกบฏอีกกลุ่มหนึ่ง

พงศาวดารราชวงศ์ซ่งไม่ได้เอ่ยถึงว่าพระเจ้าซ่งฮุยจงมีพระราชวินิจฉัยเช่นไร ระบุเพียงว่า พระเจ้าซ่งฮุยจงมีพระราชโองการให้จางซูเย่มาปราบกบฏซ่งเจียง ท้ายสุดกบฏซ่งเจียงก็ยอมจำนนต่อราชสำนัก

ซ้องกั๋งกับการเมืองประเทศจีน

นิยายซ้องกั๋งมีประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง จึงถูกจัดเป็นหนังสือประเภทที่ไม่ควรอ่าน

นิยายซ้องกั๋งมีอิทธิพลกับประวัติศาสตร์จีนมากจนได้รับการยกย่องเป็นคัมภีร์สำหรับกบฏ เพราะ กบฏในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงต่างได้รับอิทธิพลจากนิยายซ้องกั๋ง ไม่ว่าในเรื่องความคิดหรือวิธีการ

เหมาเจ๋อตงเล่าว่าหนังสือที่มีอิทธิพลต่อตนที่สุดในวัยเยาว์ก็คือนิยายซ้องกั๋ง เมื่อเหมาเจ๋อตงอายุ 13 ปี เคยแอบอ่านนิยายซ้องกั๋งในห้อง พอครูพบก็ริบหนังสือไปและตำหนิอย่างรุนแรง

เมื่อครั้งเหมาเจ๋อตงเรียนหนังสืออยู่ที่ฉางซา สนทนากับเพื่อนๆ ว่าจะช่วยเหลือบ้านเมืองได้อย่างไร เหมาเจ๋อตงพูดว่า “เอาอย่างวีรชนเหลียงซาน”

เหมาเจ๋อตงอ่านนิยายซ้องกั๋งซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงในยามเดินทัพไกลก็ยังชอบอ่าน

ครั้งสุดท้ายที่อ่านคือในวันที่ 9 หลังผ่าตัดต้อกระจก ขณะอายุได้ 83 ปี

เหมาเจ๋อตงกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์หรือตัวละครต่างๆ ในนิยายซ้องกั๋งอยู่บ่อยครั้ง วลีที่ยกมาพูดถึงสาเหตุแห่งการปฏิวัติของตนเสมอคือ “ถูกบีบขึ้นเหลียงซาน” เหมาเจ๋อตงระบุชัดว่าผู้เป็นนักปฏิวัติมิได้เป็นมาแต่กำเนิด หากแต่ถูกบีบบังคับจากพวกปฏิกิริยา บางครั้งก็ยกเหตุการณ์ในขณะนั้นมาเปรียบเทียบกับเรื่องซ้องกั๋ง