หนึ่งใน Hi-light ของการท่องเที่ยวพระราชวังต้องห้าม ณ กรุงปักกิ่ง ที่ Chinatalkstravel ขอแนะนำ คือการไปที่พระที่นั่งเฉียนชิง หรือ เฉียนชิงกง ในเขตพระราชฐานฝ่ายใน ของพระราชวังต้องห้าม เพื่อดูป้ายเจิ้งต้ากวงหมิง (正大光明) แผ่นป้ายพระอักษร 4 ตัวที่จักรพรรดิซุ่นจื้อ ฮ่องเต้ราชวงศ์ชิง พระองค์แรกที่ได้ปกครองแผ่นดินจีน ได้ทรงพระอักษรไว้ ซึ่งคำว่า “เจิ้งต้ากวงหมิง” (正大光明) นี้ แปลว่า เที่ยงตรงเจิดจรัส ซึ่งหมายถึง ความเที่ยงตรงยุติธรรม
แผ่นป้ายเจิ้งต้ากวงหมิง อยู่ในพระที่นั่งเฉียนชิง หรือเฉียนชิงกง หนึ่งในพระตำหนักฝ่ายในที่มีความสำคัญ และเป็นพระที่นั่งหลังใหญ่ที่สุดในบรรดาพระที่นั่งสามหลังแห่งฝ่ายใน ซึ่งพระที่นั่งฝ่ายในอีก 2 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งเจียวไท่ และพระที่นั่งคุนหนิง
พระตำหนัก “เฉียนชิงกง” ตั้งอยู่ด้านหน้าสุดของ “วังหลัง” เฉียนชิงกง ถือเป็นพระตำหนักหลักของ “วังหลัง” ซึ่งมีความสูง 20 เมตร มีหลังคา 2 ชั้น ในพระที่นั่งแบ่งเป็น 2 ส่วน มีห้องนอน 9 ห้อง มีเตียงทั้งหมด 27 หลัง สำหรับให้จักรพรรดิเลือกนอน เล่ากันว่า การทำเช่นนี้ เพื่อจะได้ป้องกันการลอบสังหารชีวิตองค์ฮ่องเต้
เหนือพระราชบัลลังก์ที่ตั้งอยู่ตรงกลางของพระตำหนักนี้ มีป้าย “เจิ้งต้ากวงหมิง” ซึ่งมีความหมายว่า “เที่ยงตรงเจิดจรัส” ซึ่งมีความหมายถึง ความยิ่งใหญ่ของความเที่ยงตรง ยุติธรรม และความซื่อสัตย์
ความสำคัญของแผ่นป้าย เจิ้งต้ากวงหมิงนี้ นอกจากเป็นแผ่นป้ายที่ฮ่องเต้ซุ่นจื้อทรงพระอักษรด้วยพระองค์เองแล้ว หลังแผ่นป้าย เจิ้งต้ากวงหมิง นี้ ยังเป็นที่เก็บพระราชโองการสืบทอดอำนาจจักรพรรดิ ตั้งแต่ในสมัยฮ่องเต้ย่งเจิ้ง เป็นต้นมา
โดยในรัชสมัยจักรพรรดิย่งเจิ้ง ทรงเกรงว่าเหล่าองค์ชายจะแย่งชิงอำนาจจนเกิดการฆ่าฟันกันขึ้นเช่นในสมัยของพระองค์ จึงได้ทรงมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการแต่งตั้งองค์รัชทายาท จากการแต่งตั้งโดยเปิดเผยอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่ในอดีต เปลี่ยนเป็น ทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาทโดยเป็นความลับ โดยใช้วิธีการเขียนพระราชโองการสืบทอดอำนาจ 2 ฉบับแล้วเก็บไว้ในกล่องทำเป็นสองชุด ชุดหนึ่งวางไว้หลังป้าย “เจิ้งต้ากวงหมิง” อีกชุดหนึ่งพกติดตัวตลอด หลังจากองค์ฮ่องเต้สิ้นพระชนม์ เหล่าขุนนางจึงจะนำเอาพระราชโองการ 2 ฉบับมาพิสูจน์เทียบกันแล้วประกาศชื่อจักรพรรดิองค์ใหม่ที่จะได้สืบพระราชสมบัติ
พระตำหนักเฉียนชิงกง เป็นที่บรรทมของจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง โดยก่อนรัชสมัยฮ่องเต้ย่งเจิ้ง ฮ่องเต้ทุกพระองศ์ล้วนประทับและจัดการกิจการบ้านเมืองที่นี่ แต่หลังจากที่ฮ่องเต้คังซีสวรรคต ได้มีการวางพระบรมศพประทับไว้ที่เฉียนชิงกงตามโบราณราชประเพณี
ย่งเจิ้งฮ่องเต้จึงเลือก พระตำหนักหยางซิน หรือหยางซินเตี้ยน เป็นที่ประทับระหว่างทำพิธีไว้ทุกข์ แต่เมื่อเสร็จพิธีไว้ทุกข์แล้ว ก็ทรงประทับอยู่ที่หยางซินเตี้ยนต่อ โดยทรงให้เหตุผลว่า เฉียนชิงกงนั้นเคยเป็นที่ประทับของพระราชบิดา โดยมีผู้วิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้ฮ่องเต้ย่งเจิ้นเลือกประทับที่หยางซินเตี้ยนแทนที่จะเป็นที่เฉียนชิงกงนั้น เป็นเพราะว่าเฉียนชิงกงอยู่ในพื้นที่เปิด เข้าออกได้ง่าย ต่างกันกับหย่างซินเตี้ยนที่มีลักษณะปิด เข้าออกจากทางเดียว เมื่อมีเหตุก็จะรู้ก่อนและหลบหนีได้ทัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหลังจากในรัชสมัยของฮ่องเต้หย่งเจิ้ง เป็นต้นมา เฉียนชิงกง จะไม่ได้เป็นที่ประทับขององค์ฮ่องเต้อีกต่อไป แต่เฉียนชิงกง ก็ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นที่ออกขุนนาง ประชุมสภากลาโหม ฯลฯ
สำหรับผู้ที่ต้องการไปดูแผ่นป้ายเจิ้งต้ากงหมิง นี้ สามารถไปได้ที่พระตำหนักเฉียนชิง ในเขตพระราชฐานชั้นใน ของพระราชวังต้องห้าม (กู้กง) ณ กรุงปักกิ่ง
การเดินทาง : สถานีรถไฟใต้ดิน เทียนอันเหมินตะวันออก 天安门东站 : Tian’anmen East Station