ในสมัยจีนโบราณ ในยุคสามราชาห้าจักรพรรดิ์ ปัญหาอุทกภัย ถือเป็นปัญหาใหญ่
เล่ากันว่า ในขณะที่เหยาเป็นหัวหน้าเผ่าอยู่นั้น เกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงมาก ไร่นาและบ้านถูกน้ำท่วมไปหมด ชาวบ้านทั่วไปต้องย้ายไปอยู่เนินสูง
เหยาเรียกเปิดประชุม เพื่อปรึกษาหารือแก้ปัญหาอุทกภัย บรรดาหัวหน้าเผ่าต่างก็เสนอชื่อให้ กุ่น ซึ่งเป็นบิดาของอวี่ไปหาทางแก้ไข
กุ่นใช้เวลา 9 ปีใช้วิธีการถมดินปิดกั้นทางน้ำไหล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซ้ำอุทกภัยกลับร้ายแรงยิ่งขึ้น และยังถูกฟ้องร้องกล่าวหาว่าทุจริต
ซุ่นผู้ได้สืบราชบัลลังก์ต่อจากเหยาได้สั่งให้ลงโทษประหารชีวิต กุ่น และมอบหมายให้ อวี่ บุตรชายของ กุ่น ไปแก้ปัญหาอุทกภัยแทน
อวี่ได้บทเรียนจากความล้มเหลวของบิดาตนที่ใช้ทำนบ ปิดกั้นทางน้ำไหลไม่ได้ผลจึงใช้วิธีขุดคลองระบายน้ำที่ท่วมอยู่ให้ไหลลงทะเลและขุดลอกแม่น้ำเพื่อระบายน้ำแทน
เขาใช้วิธีสำรวจทางน้ำและสร้างแผนที่ขึ้นมาก่อน แล้วจึงขุดคลองระบายน้ำให้น้ำที่ท่วม อยู่มีทางไหลออกไปสู่ทะเลได้ เขามุ่งมั่นนำพาพลเมืองให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำทวมด้วยตนเอง นำหน้าขุดดินและหาบดินด้วยตนเอง
ในระหว่างการแก้อุทกภัย เขาได้คิดประดิษฐ์เครื่องวัดหลายชนิด ตลอดจนวิธีการรังวัดและเขียนผังหลายอย่าง ด้วยการใช้ความ พยายามเป็นเวลานานถึง 13 ปี จึงสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลและปลูกพืชพันธุ์ ธัญญาหารในไร่นาได้
เล่ากันว่า เพื่อแก้ไขน้ำท่วม อวี่แต่งงานได้ไม่นาน ก็ต้องเดินทางออกจากบ้าน ในช่วงเวลา 13 ปีที่เขาทำงานหนักมาก เขาเคยผ่านหน้าบ้านถึงสามครั้ง แต่ก็ไม่ได้แวะเข้าบ้านเลยแม้สักครั้ง ครั้งหนึ่ง ขณะที่เขาผ่านหน้าบ้านนั้น ภรรยาเขาได้คลอดลูกชายชื่อ ฉี่ พอดี แม้อวี่ได้ยินเสียงร้องไห้ของทารกแล้ว แต่ก็อดกลั้นใจไว้ไม่แวะเข้าบ้านของตน
ด้วยคุณงามความดีในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซุ่น จึงได้มอบราชบัลลังก์ให้อวี่สืบทอดต่อ อวี่ จึงเป็นปฐมกษัตริย์ ราชวงศ์ เซี่ย ซึ่งถือเป็นราชวงศ์แรกของจีน
ส่วนชนรุ่นหลังต่างยกย่องสรรเสริญคุณงามความดีในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของ อวี่ จึงเรียกเขาว่า ต้าอวี่ แปลว่า อวี่ผู้ยิ่งใหญ่