กลอนจีน ข้ามทะเลหลิงติง 过零丁洋 โดย เหวินเทียนเสียง 文天祥

กลอนจีน ข้ามทะเลหลิงติง โดย เหวินเทียนเสียง

过零丁洋 – 文天祥
辛苦遭逢起一经,干戈寥落四周星。
山河破碎风飘絮,身世浮沉雨打萍。
惶恐滩头说惶恐,零丁洋里叹零丁。
人生自古谁无死,留取丹心照汗青。

ข้ามทะเลหลิงติง – เหวินเทียนเสียง

ผ่านความลำบาก รอบรู้คัมภีร์ ได้โอกาสก้าวหน้า
กรำศึกไม่หยุดหย่อนในสี่ปีนี้
แผ่นดินแตกสลายดังปุยฝ้ายต้องลม
ชะตาชีวิตลุ่ม ๆ ดอน ๆ ดุจแหนต้องฝน

ที่หาดหวงข่ง มีแต่ความหวาดกลัว
ที่ทะลหลิงติง ถอนใจอยู่เดียวดาย
แต่โบราณมา มนุษย์มีใครไม่ตายบ้าง
เพียงแต่ ฝากหัวใจ สัตย์ซื่อ ส่องสว่าง พงศาวดาร

ผู้แต่งบทกวีนี้คือ เหวินเทียนเสียง 文天祥 (ค.ศ.๑๒๓๖ – ๑๒๘๒) เป็นกวีและขุนนางในสมัยซ่งใต้ (ค.ศ.๑๑๒๗ – ๑๒๗๙) ได้รับการยกย่องในด้านความซื่อสัตย์และเป็นวีรบุรุษที่กรำศึกต่อสู้กับกองทัพมองโกล เหวินเทียนเสียงเป็นบุคคลหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนที่ชาวจีนรู้จักดี เรื่องราวของเขาได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมา เหวินเทีียนเสียงเป็นชาวหลูหลิง ปัจจุบันคือ เมืองจี๋อาน มณฑลเจียงซี ใน ค.ศ.๑๒๕๖ (อายุ ๒o ปี) สอบได้จิ้นซื่อเป็นที่ ๑ จึงได้เป็นจอหงวน รับราชการเป็นขุนนาง

ในค.ศ.๑๒๗๕ กองทัพมองโกลข้ามแม่น้ำแยงซีรุกลงมาทางใต้ (ราชวงศ์ซ่งใต้ตั้งมั่นอยู่ทางภาคใต้ ส่วนทางภาคเหนือถูฏพวกชนเผ่าหนี่ว์เจินและชนเผ่ามองโกลเข้าครอบครองตามลำดับ) เหวินเทียนเสียงได้ระดมกำลังตั้งรับมองโกลที่มณฑลเจียงซี สามารถปกป้องเมืองหลินอาน (ปัจจุบันคือเมืองหังโจว) ไว้ได้ ปีถัดมา (ค.ศ.๑๒๗๖) ได้รับพระราชโองการให้ไปเจรจาสงบศึกกับศัตรู ฝ่ายมองโกลพยายามข่มเหง แต่งเหวินเทียนเสียงไม่ยอมจึงถูกจับ แต่หลบหนีได้ที่เมืองเจิ้นเจียง แล้วนั่งเรือลงมาทางใต้ที่มณฑลฮกเกี้ยน ระดมกำลังต่อสู้กับมองโกลอีก ในการศึกที่อู่ปัวหล่ิง มณฑลกวางตุ้ง (ปัจจุบันคือ อำเภอไห่เฟิง เมืองซั่นเหวย มณฑลกวางตุ้ง) เมื่อค.ศ.๑๒๗๘ รบแพ้ถูกจับเป็นเชลย ต่อมาถูกส่งตัวไปคุมขังที่ปักกิ่ง ๓ ปี ระหว่างถูกคุมขัง ฝ่ายมองโกลพยายามเสนอผลประโยชน์ต่าง ๆ และให้เข้ารับราชการด้วยแต่ไม่ยอม ในที่สุดถูกฆ่าตายใน ค.ศ.๑๒๘๒

เกร็ดประวัติของการแต่งบทกวี ข้ามทะเลหลิงติง มีความว่า ในวันที่ ๒o เดือน ๑๒ ค.ศ.๑๒๗๘ เหวินเทียนเสียงรบแพ้ที่อู่ปัวหลิ่ง ถูกจับเป็นเชลย ปีถัดมา (ค.ศ.๑๒๗๙) วันที่ ๑๓ เดือนอ้าย ถูกคุมตัวขึ้นเหนือเพื่อไปปักกิ่ง ผ่านภูเขาหยาซาน อยู่บนเกาะกลางทะเลในอำเภอซินฮุ่ย นอกเมืองกว่างโจว ขณะนั้นแม่ทัพฝ่ายจีนชื่อ จังซื่อเจี๋ย เชิญพระจักรพรรดิืตี้ปิ่งไปประทับอยู่ที่นั่น (หยาซาน) ทหารมองโกลจะไปโจมตีจับจักรพรรดิ เอาเหวินเทียนเสียงไปด้วย และจังหวงฟั่น แม่ทัพมองโกลขอให้ช่วยเขียนจดหมายไปชักชวนจังซื่อเจี๋ยให้ยอมจำนน แต่เหวินเทียนเสียงปฏิเสธ กล่าวว่า เมื่อเราไม่สามารถช่วยพ่อแม่ได้ แล้วเราจะไปสอนให้คนอื่นทรยศต่อพ่อแม่ ทำได้อย่างไร และเขียนกวีชื่อ ข้ามทะเลหลิงติง ให้จังหงฟั่น แม่ทัพมองโกล ผู้ซึ่งอ่านแล้วชมว่า คนดี กลอนก็ดี

ส่วนศัพท์ในบทกลอนนั้น บาทแรก “รอบรู้คัมภีร์” หมายถึง “ได้ร่ำเรียนคัมภีร์ขงจื้อจนมีความรู้ดี”

“ได้โอกาสก้าวหน้า” หมายถึง “จักรพรรดิได้ให้ตำแหน่งเป็นขุนนาง”

บาทที่ ๕ กวีเล่นคำว่า หวงข่งทาน และหวงข่ง หวงข่งทาน หรือหาดทรายหวงข่งอยู่กลางแม่นำ้กังเจียง ในอำเภอวั่นอาน มณฑลเจียงซี เดิมชื่อว่า หวงกงทาน ต่อมาอ่านเพี้ยนไปเป็นหวงข่งทาง เป็นหาดที่อันตราย น้ำเชี่ยว และมีหินโสโครก จึงเป็นหาดที่อันตรายที่สุดใน ๑๘ หาดของแม่นำ้กังเจียง สมัยที่เหวินเทียนเสียงต่อสู้กับกองทัพมองโกล เคยผ่านหวงข่งทาน ส่วนคำว่า หวงข่ง นั้น แปลว่า หวาดกลัว หวั่นวิตก

บาทที่ ๖ กวีเล่นคำว่า หลิงติงหยัง และหลิงติง หลิงติงหยัง เป็นทะเลในบริเวณปากแม่น้ำจูเจียง มณฑลกวางตุ้ง ส่วนคำว่า หลิงติง แปลว่า เปล่าเปลี่ยว โดดเดี่ยว เดียวดาย

บาทที่ ๘ คำว่าตานซิน แปลตามศัพท์ว่า หัวใจสีแดง ใช้ในความหมายถึง หัวใจที่ซื่อสัตย์ ภักดี ส่วนคำศัพท์ “ฮั่นชิน” นั้น ในสมัยโบราณไม่มีกระดาษ จึงจารหนังสือไว้ในแผ่นไม้ไผ่ แล้วร้อยเชือกไว้เป็นชุด ก่อนจารต้องทำฮั่นชิง คือ การนำไม้ไผ่ไปรมควันให้ออกเหงื่อ ทำให้นำ้ระเหยออกมา การจารจะง่ายขึ้น และยังป้องกันไม่ให้ตัวมอดปลวกกิน ต่อมาภายหลังคำว่า “ฮั่นชิง” มีความหมายว่า เป็นหนังสือประวัติศาสตร์แผ่นไม้ไผ่ที่ผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ จนจารได้เรียกว่า “ฮั่นชิง”

กลอนบาทที่ ๗ และ ๘ เป็นบาทที่เด่นและได้รับความนิยมมาก ชาวจีนท่องจำกันมาจนถึงทุกวันนี้

ข้อมูลจากหนังสือ​ “หยกใสร่ายคำ”
บทพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี