ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จ. สุพรรณบุรี เป็นพุทธปฎิมากรรมสลักบนแผ่นหินแบบนูนต่ำ ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ซึ่ง เป็นศิลปะแบบขอมเป็นรูปพระวิษณุกรรมสวมหมวกแขก ในศิลปะไพรกเม็ง มีพระนามว่าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือ พระนารายณ์สี่กร มีหน้าที่ช่วยเหลือมนุษย์ และเหล่าสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ประสพแต่ความสุขความเจริญ เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ เจ้าแม่กวนอิม
ตามคำบอกเล่าต่อๆกันมา เมื่อประมาณ 150 ปีมาแล้ว มีผู้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จมดินอยู่ตรงริมศาลเจ้าพ่อ ชาวบ้านจึงช่วยกันอัญเชิญขึ้นข้างบน พร้อมกับสร้างศาลใหม่ให้เป็นที่ประทับ มีคนจีนชื่อ เฮียกงเป็นผู้ดูแลรักษาเรื่อยมา
เมื่อครั้งโบราณมีคำกล่าวว่า ” ห้ามเจ้าไปเมืองสุพรรณจะทำให้มีอันเป็นไป ” เมื่อ พ.ศ. 2435 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณ ได้ทรงสักการะเจ้าพ่อหลักเมือง ได้ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างศาลเพิ่มขึ้น พร้อมวางแผนให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสุพรรณ
พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระดำรัสว่า “เข้าทีดีหนักหนา แต่เขาไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ ว่าถ้าขืนไปจะเป็นบ้าไม่ใช่หรือ”
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงกราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าไปมาแล้วไม่เห็นเป็นอะไร ยังรับราชการมาจนบัดนี้
พระพุทธเจ้าหลวงทรงตรัสสั้นๆว่า “ไปซิ” จากนั้นพระองค์จึงเสด็จมาเมืองสุพรรณ ในคราวเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2447 และทรงกระทำพลีกรรมเจ้าพ่อหลักเมือง และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้างเขื่อนรอบเนินศาล ทำชานไว้สำหรับคนที่บูชา สร้างกำแพงแก้ว ต่อตัวศาลเพิ่มเติมออกมา ข้างหน้าเป็นแบบเก๋งจีน
โดยทั่วไปศาลหลักเมืองนั้นจะทำด้วยไม้ บนยอดจะเป็นหัวเม็ด แต่หลักเมืองของสุพรรณนี้พิเศษกว่าหลักเมืองทั่วไปคือ จะเป็นหินและมีพุทธปฎิมากรอยู่ด้วย