วันรับประทานทานผัก 7 อย่าง คือ วันที่ 7 ของเดือน 1 หรือ วันที่ 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เป็นวันที่กำหนดให้มีการรับประทานอาหารประเภทผัก 7 อย่าง ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีแตกต่างกันไป แต่ผักทั้ง 7 นั้น ล้วนมีความหมายที่ดี
การกำหนดให้รับประทานผัก 7 อย่าง ถือเป็นกุศโลบายของชาวจีนเพื่อให้ผู้คนมารับประทานผักกันหลังจากการกินเนื้อสัตว์ และสุรา เพื่อเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ (ตรุษจีน) มาเป็นเวลาหลายวัน
ดังนั้นในวันที่ 7 เดือน 1 ของปี จึงกำหนดให้เป็นวันกินผักมงคล 7 ชนิด นำมาปรุงโดยการต้ม หรือผัด รับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล
ทั้งนี้ ผักทั้ง 7 ชนิดจะแตกต่างกันไป ในแต่ละท้องถิ่น โดยชื่อผักที่เลือกมา มักมีความหมายที่ดี เช่น
ขึ้นฉ่าย 芹菜 ฉินช่าย โดยคำว่า ฉิน 芹 มีเสียงพ้องกับคำว่าฉิน 勤 ที่แปลว่า มีความเพียร อุสาหะวิริยะ และขยันขันแข็ง
ผักโขมจีน 春菜 ชุนช่าย โดยคำว่า ชุน 春 หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิ มีเสียงพ้องกับคำว่าเซิน 伸 เซิน แปลว่า ยืด มีความหมายว่า มีโอกาสยืดหน้า ยืดตากับเขา
เก่าฮะ 厚合菜 โห่วเหอช่าย โดยคำว่า โห่ว หรือ เก๋า 厚 มีความหมายว่า หนา มากมาย อย่างยิ่งยิ่งใหญ่ เข้ม จัด ส่วนคำว่า เหอ หรือเฮ่อ 合 มีความหมายว่า รวมกัน ร่วมกัน และ ยังมีเสียงคล้องจองพ้องกับคำว่าเหอ หรือเฮ่อ 和 ซึ่งมีความหมายว่า สมานฉันท์ รักใคร่กัน ปรองดองกัน
ต้นกระเทียม 蒜 ซ่วน โดยมีเสียงพ้องกับคำว่า ซ่วน 算 ที่แปลว่านับ โดยคนจีนถือว่าคนนับเลขเป็น ก็จะเป็นพ่อค้า รู้จักการคิดเลข คิดราคาสินค้าเป็น ทำให้มีเงินทองให้นับมากมาย
ผักกาดเขียว 大菜 ต้าช่าย โดยคำว่าต้า 大 หมายความว่า ใหญ่โต ยิ่งใหญ่ สื่อความหมายว่า ได้เป็นใหญ่เป็นโตในหน้าที่การงาน เป็นเจ้าคนนายคน เจริญก้าวหน้าอย่างยิ่งใหญ่
หัวผักกาด 萝卜头 หลัวโปโถว ในภาษาพูด จะเรียกว่า ช่ายโถว หรือ หัวไช้เท้า 菜头 โดยคำว่า ช่าย 菜 มีเสียงพ้องกับคำว่าไฉ 财 หมายถึง โชคลาภ ส่วนคำว่าโถว 头 หมายถึงหัว หรือศรีษะ สื่อความหมายว่าจะได้เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ
คะน้า 芥兰菜 เจี้ยหลันช่าย คำว่าเจี้ย 芥 พ้องเสียงกับคำว่าเจี้ย 价ในคำว่าเจี้ยเก๋อ 价格 แปลว่า (มี)ราคา