เทศกาลมังกรเชิดเศียร คือ วันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 2 ตามปฏิทินจีน
มังกรนั้นเป็นสัตว์มงคลและเป็นเทพในคติของชาวจีน และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการทำเกษตร เชื่อว่ามังกรบันดาลให้ฝน ให้น้ำ ทำให้พืชพรรณเติบโต
วันที่ 2 เดือน 2 ตามปฏิทินจีน ถือเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ เป็นช่วงที่ชาวนาเริ่มหว่านไถ และในบางพื้นที่ของประเทศจีนก็เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ชาวบ้านจึงเชื่อว่าในวันนี้มังกรจะเชิดหัวขึ้นบินกลับสวรรค์ และบันดาลฝนมาให้
ชาวจีนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับการทำเกษตรและการเพาะปลูกมายาวนาน การสังเกตดินฟ้าอากาศ การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ การดูวงโคจรของดวงดาว เพื่อทำนายต่าง ๆ จึงมีมาแต่โบราณ
ชาวจีนโบราณแบ่งกลุ่มดาวบนท้องฟ้าเป็น 28 กลุ่ม 4 ทิศ แต่ละทิศมีสัตว์เทพเจ้าผู้คุ้มครองอยู่ ได้แก่ เสือขาว มังกรเขียว เต่าดำ และหงส์แดง คุมอยู่ทั้งสี่ทิศ โดยทิศตะวันออกตามความเชื่อของชาวจีนก็คือทิศของมังกร 苍龙
ความสำคัญของวันเทศกาลมังกรเชิดเศียร คือ การระลึกถึงมังกร เทพเจ้าผู้บันดาลให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงมีการไหว้เทพเจ้ามังกร หรือเชิญมังกร เพื่อเป็นเคล็ดให้พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าอุดมสมบูรณ์
ตำนานเทศกาลมังกรเชิดเศียร
เล่ากันว่า จุดเริ่มต้นของเทศกาลมังกรเชิดเศียรว่าเริ่มต้นในสมัยราชวงศ์ถัง ปี 618-907 ในยุคสมัยที่บูเช็คเทียน สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิหญิงองค์แรกของประวัติศาสตร์จีน ได้ล่วงเกินเง็กเซียนฮ่องเต้ ทำให้พระองค์ทรงพิโรธเป็นอย่างมาก จึงได้มีพระบัญชาให้พญามังกรจาก 4 คาบสมุทร งดปล่อยฝนมายังโลกมนุษย์ 3 ปี นำมาซึ่งความเดือดร้อนแก่ราษฎรทุกหย่อมหญ้า เสียงร้องไห้โอดครวญดังระงมไปทั่วปฐพี
มังกรหยก 玉龙 ซึ่งมีหน้าที่เฝ้าธารสวรรค์ไม่อาจทนเห็นชาวบ้านได้รับทุขเวทนาได้ จึงอาศัยตอนที่เง็กเซียนบรรทม แอบบันดาลให้ฝนตกลงมายังโลกมนุษย์ เมื่อเง็กเซียนทราบเรื่องก็พิโรธหนัก ลงโทษมังกรหยกให้ตกสวรรค์ไปอยู่โลกมนุษย์ และเนรมิตเขาลูกใหญ่ทับไว้ ตรงตีนเขามีป้ายปักไว้ว่า
“พญามังกรปล่อยฝนขัดมติฟ้า ลงโทษสู่โลกมนุษย์ขังใต้เขา หากคิดหวนคืนตำหนักเทพ ให้รอจนถั่วสีทองออกดอก”
เพื่อช่วยมังกรผู้มีคุณ ชาวบ้านต่างพยายามเสาะแสวงหาถั่วทองที่ออกดอกมาช่วย จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาจนถึงวันขึ้น 2 ค่ำเดือน 2 ชาวบ้านพากันนำเมล็ดข้าวโพดออกมาตากแดด จู่ๆ ชาวนาคนหนึ่งเฉลียวใจพูดขึ้นว่า
“พวกเราดูข้าวโพดสีเหลืองทองนี่สิ มองดูคล้ายถั่วสีทองนัก เอาไปคั่วให้เมล็ดแตก ก็ประหนึ่งถั่วสีทองออกดอกแล้วสิ”
เมื่อได้ยินเช่นนั้น ชาวบ้านต่างพากันคั่วเมล็ดข้าวโพดให้แตกออก และจุดธูป หวังสื่อไปถึงเง็กเซียนและมังกรหยก เมื่อเง็กเซียนเห็นว่า ถั่วทองออกดอกแล้วจริงๆ จึงได้บัญชาปล่อยพญามังกรออกมา และอนุญาตให้กลับขึ้นสวรรค์
เพื่อเป็นการตอบแทนมนุษย์ที่ได้ช่วยเหลือไว้ พญามังกรเชิดเศียรเหินขึ้นฟ้า และพ่นน้ำลงมากลายเป็นสายฝนโปรยปรายสร้างความชุ่มชื่นแก่โลกมนุษย์
ประเพณีในวันเทศกาลมังกรเชิดเศียร
ตามประเพณีท้องถิ่นชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าตรู่ จุดตะเกียงออกไปหาบน้ำ ระหว่างทางกลับก็ราดน้ำไปตลอดทาง เรียกประเพณีนี้ว่า เชิญมังกรหวน มีนัยยะต้องการให้ฟ้าบันดาลฝนให้ตกในที่นาของตน
นอกจากนั้นในวันนี้ชาวบ้านยังนิยมทานก๋วยเตี๋ยวที่เรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวหนวดมังกร ทานเกี๊ยวน้ำที่เรียกว่า ฟันมังกร ทานแป้งแผ่นที่เรียกว่า เกล็ดมังกร ทานข้าวโพดคั่ว ซึ่งแฝงนัยยะว่า ถั่วทองออกดอก พญามังกรขึ้นสวรรค์ บันดาลฝนตก ทั่วหล้าอุดมสมบูรณ์
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมรื่นเริงมากมาย รวมไปถึงการเชิดมังกรขอฝน
และธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่นิยมอย่างหนึ่งของจีนในวันนี้คือ การตัดผม เพราะนับตั้งแต่วันเทศกาลตรุษจีนเป็นต้นมา ชาวจีนมีข้อห้าม อย่างหนึ่งคือห้ามตัดผม ดังนั้น จึงถือโอกาสในวันนี้เป็นวันตัดผม ซึ่งมีนัยของการทิ้งสิ่งเก่า ต้อนรับสิ่งใหม่