ปลาจีน

ปลาจีนเป็นชื่อที่ใช้เรียกปลา 3 ชนิด คือ ปลาเฉาหรือเฉาฮื้อ 草鱼หรือปลากินหญ้า ปลาลิ่นหรือปลาลิ่นฮื้อ 鲢鱼 หรือปลาเกล็ดเงิน และปลาซ่งหรือซ่งฮื้อ 鳙鱼 หรือปลาหัวโต

ปลาทั้งสามชนิดนี้เป็นปลาที่นำเข้ามาจากประเทศจีน เมื่อนำมาเลี้ยงในประเทศไทย พบว่า ปลาทั้งสามชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีโดยเฉพาะ การเลี้ยงในบ่อที่มีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปลาจะไม่วางไข่ในบ่อเลี้ยง จึงจำเป็นต้องเพาะพันธุ์โดยวิธีการฉีดฮอร์โมนผสมเทียม

ลักษณะทั่วไป
ในบรรดาปลาจีนทั้ง 3 ชนิดนี้ ปลาลิ่นและปลาซ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากที่สุด จะสังเกตุความแตกต่างได้จากลักษณะของหัว ซึ่งปลาซ่งมีหัวค่อนข้างโตเมื่อเทียบกับลำตัว จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปลาหัวโต (Bighead carp) ไม่มีสันบริเวณท้อง ตรงข้ามกับปลาลิ่นซึ่งมีหัวขนาดเล็กกว่าและมีสันแหลมบริเวณท้อง

ปลาทั้งสองชนิดนี้มีเกล็ดสีเงินแวววาว แต่บางครั้งเกล็ดของปลาซ่งจะมีสีดำเป็นจุดอยู่บนเกล็ดบางส่วน

สำหรับปลาเฉานั้นมีเกล็ดขนาดใหญ่ นอกจากนั้นลำตัวยังกลมและยาวมากกว่า ส่วนหลังมีสีดำน้ำตาล ส่วนท้องสีขาว

ปลาเกล็ดเงิน (ปลาลิ่น) (Silver carp)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypophthalmichtys molitrix (Cuv.&Val) ส่วนหัวมีขนาดปานกลาง ปากเชิดขึ้นเล็กน้อยอยู่ปลายสุดของหัว ขากรรไกรล่างเฉียงขึ้นมาเล็กน้อย ตาค่อนข้างเล็กและอยู่ต้ระดับกึ่งกลางลำตัว ส่วนหนังของเหลือกไม่เชื่อมสนิทกับแก้มส่วนล่าง มีอวัยวะ Super branchial อยู่ ซี่กรองเหงือกติดต่อกันเหมือนตะแกรงที่มีลักษระคล้ายฟองน้ำ ฟันที่คอหอยมีข้างละแถวๆ ละ 4 ซี่ พื้นหน้าตัดของฟันแบนเป็นร่องละเอียด ครีบหลังมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 7 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 11-14 ก้าน ครีบอกมีครีบเดี่ยว 1 ก้าน และมี ก้านครีบแขนง 17 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว 1 ก้าน และมีครีบแขนง 8 ก้าน เกล็ดบนเส้นข้างลำตัวมี 110-123 เกล็ดลำตัวรูปกระสวยแบนข้างส่วนท้อง เป็นสันยาวจากอกถึงรูก้น ลำตัวส่วนหลังสีดำ เทา ส่วนอื่นๆ สีเงิน

ปลาหัวโต (ปลาซ่ง) (Bighead carp)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aristichthysnobilis (Richardson) ส่วนหัวมีความยาวประมาณ 1 ใน 3 ของลำตัว ปากอยู่ปลายสูงสุดและ เชิดขึ้นข้างบน ขากรรไกรล่างเฉียงขึ้นข้างบนเล็กน้อยตาค่อนข้างเล็กอยู่ต่ำเยื้องมาทางส่วนหน้าซี่กรองเหงือกถี่และมีขนาดเล็กแต่ไม่ติดกัน ที่คอหอยมีฟัน ข้างละแถวๆ 4 ซี่ พื้นหน้าตัดของฟันแบนและเรียบ ครีบบนหลังมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 11-14 ก้าน ครีบอกมีก้านครีบเดี่ยว 1 ก้านและ ก้านครีบแขนง 17 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว 1 ก้าน และก้านครีบแขนง 8 ก้าน เกล็ดเล็กที่เส้นข้างลำตัว มี 95-105 เกล็ด ลำตัวกระสวย ส่วนท้องเป็น สัน ตั้งแต่ครีบท้องถึงครีบก้น หางแบนข้างและเป็นสัน ส่วนหลังจะมีสีคล้ำและจุดดำบางแห่งท้องเหลือง

ปลากินหญ้า (ปลาเฉา) (Grass carp)

 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ctenopharyngodon idellus (Cuv.&val) ส่วนหัวค่อนข้างแบนปากอยู่ปลายสุดเฉียงขึ้นเล็กน้อยขากรรไกร ล่างสั้นกว่าขากรรไกรบน ตาเล็ก ซี่เหงือกติดต่อกับแก้ม ซี่กรองเหงือกห่างและสั้น ฟันที่คอหอยมีอยู่ 7 แถวคล้ายหวี ข้างซ้ายมี 2-5 ซี่ ข้างขวามี 2-4 ซี่ครีบ หลังสั้นมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 7 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 8 ก้าน ครีบอกมีก้านครีบเดี่ยว 2 ก้าน ก้านครีบ แขนง 14 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว 1 ก้าน และก้านครีบแขนง 8 ก้าน เกล็ดขนาดใหญ่บริเวณข้างลำตัว 34-35 เกล็ด ลำตัวรูปกระสวยคล้ายทรงกระบอก หางแบนข้าง ส่วนหลังมีสีดำ น้ำตาล ท้องสีขาว

ที่มา กรมประมง | wikipedia