เกี๊ยวถือเป็นอาหารมงคลของชาวจีน ในช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือเทศกาลสำคัญ ๆ ของจีน คนจีนทางเหนือจะนิยมทำเกี๊ยวเพื่อรับประทานกันในครอบครัว มีตำนานที่มาเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดการทำเกี๊ยว หรือเจียวจื่อ 饺子 ไว้ว่า
มีแพทย์จีนชื่อ จางจ้งจิ่ง 张仲景 ชาวเมืองหนานหยาง มณฑลเหอหนาน เขาเป็นปรมาจารย์ทางการแพทย์ที่มีความสามารถในการรักษาอาการเจ็บป่วยได้ทุกชนิด เขาเป็นแพทย์ผู้ใจบุญที่สามารถช่วยชีวิตคนในเมืองเหอหนาน โดยเขาได้พบกับชาวบ้านที่ยากจน พวกเขาทั้งอดอยาก ทนหนาวเพราะไม่มีเสื้อผ้าใส่ และยังป่วยไข้ ใบหูก็เปื่อยเพราะถูกความหนาวเย็นกัด ในช่วงฤดูหนาว
จางจ้งจิ่ง ได้คิดค้นสูตรยา โดยนำเนื้อสัตว์ผสมกับสมุนไพรและพริกไทยซึ่งช่วยเพิ่มความร้อนให้ร่างกาย แล้วนำไปห่อแป้ง จีบให้เป็นรูปคล้ายใบหู เสร็จแล้วนำไปนึ่ง จากนั้นเขาก็ต้มซุปไว้กินคู่กับยาที่ทำไว้ นำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน โดยไม่คิดเงิน
เมื่อชาวบ้านได้กินยาของ จางจ้งจิ่ง เข้าไปก็รู้สึกว่าร่างกายอบอุ่น ใบหูที่ถูกความหนาวเย็นกัด ก็เริ่มกลับคืนมาเป็นปกติ
จางจ้งจิ่งได้ทำยานี้แจกจ่ายให้ชาวบ้านตั้งแต่ช่วงต้นฤดูหนาวไปจนถึงวันตรุษจีน จนชาวบ้านที่ล้มป่วยกลับมามีร่างกายที่แข็งแรง พร้อมกับฉลองวันตรุษจีน จากนั้นเป็นต้นมาชาวจีนก็เลยดัดแปลงทำแป้งจีบห่อไส้ให้คล้าย ๆ กับยาที่จางจ้งจิ่งคิดค้น ไว้เป็นอาหารที่รับประทานในช่วงวันตรุษจีน
ต่อมาก็ได้มีการดัดแปลงสูตรยาที่จางจ้งจิ่งทำขึ้น เรื่อย ๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นเกี๊ยวที่เรารู้จักกันมาถึงปัจจุบันนี้