ในช่วงฤดูร้อนของจีน ชาวจีนมีความกลัวโรคภัยไข้เจ็บและสิ่งเลวร้ายที่มากับฤดูร้อน โดยเฉพาะสัตว์มีพิษทั้งหลาย โดยชาวจีน ได้มีการจัดประเภทสัตว์ที่มีพิษไว้ จำนวน 5 ชนิด เรียกว่าอู่ตู๋ 五毒 ประกอบด้วย แมงป่อง 蝎子 งู 蛇 ตะขาบ 蜈蚣 คางคก 蟾蜍 และจิ้งเหลน 壁虎 ซึ่งชนิดสุดท้ายมีการสลับสับเปลี่ยนกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่นบางที่ก็มีแมงมุม 蜘蛛 แทนจิ้งเหลน
ในช่วงเทศกาลตวนอู่ หรือเทศกาลวันไหว้บะจ่าง นอกจากจะการแข่งเรือมังกรและการไหว้ขนมบะจ่าง ซึ่งเป็นไปตามตำนานของชวีหยวน นักกวีผู้เป็นที่มาของเทศกาลตวนอู่แล้ว
เนื่องจากเทศกาลตวนอู่เกิดขึ้นในวันที่ 5 เดือน 5 ซึ่งถือเป็นช่วงฤดูร้อนของประเทศจีน ชาวจีนจึงมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ และสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย ที่จะออกมาในฤดูร้อน ดังนั้น ในช่วงเทศกาลตวนอู่ มีธรรมเนียมว่าจะมีการแขวนรูปสัตว์มีพิษทั้ง 5 ชนิด พร้อมนำเข็ม 5 เล่ม ปักที่รูปสัตว์เหล่านั้นเป็นเคล็ดว่าไม่ให้สัตว์เหล่านั้นมาทำร้ายคนได้อีก
ที่สำคัญในเทศกาลนี้ จะมีการทาหรือกิน เหล้าสงหวง 雄黄酒 ซึ่งตามตำราสมุนไพรจีน ระบุว่ามีฤทธิ์ ขับเสมหะ ถอน พิษงู แมลง ฆ่าเชื้อโรค ไล่หนอน ฆ่าแมลงได้ โดยเหล้าสงหวง 雄黄酒 นี้ ก็เป็นเหล้าชนิดเดียวกับในเรื่องตำนานนางพญางูขาว ตำนานพื้นบ้านของจีน ที่สวี่เซียนพระเอกของเรื่องใช้มอมเหล้า ไป๋ซู่เจิน นางงูขาว ที่แปลงร่างมาเป็นมามนุษย์จนนางต้องกลายร่างกลับมาเป็นงูเช่นเดิม
นอกจาก การปักเข็มที่รูปสัตว์มีพิษทั้ง 5 แล้ว ยังมีการใช้พืช 5 ชนิด ปักหรือแขนไว้ที่ประตูหน้าต่างภายในบ้านเพื่อกำจัดพิษร้าย ตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บและสิ่งอัปมงคลต่าง ๆ โดยพืช 5 ชนิด ประกอบด้วย
- ใบอ้าย Artemisia vulgaris 艾叶หรือโกฐจุฬาลัมพา ใบอ้ายเป็นสมุนไพรสำคัญชนิดหนึ่งซึ่งที่ใบและก้านจะมีน้ำมันหอมไล่ยุง แมลงวัน มดแมลงต่าง ๆ ได้ดี ช่วยฟอกอากาศสดชื่น โดยมีสำนวนจีนกล่าวไว้ว่า เช็งเม้งปักหลิว ตวนอู่ปักอ้าย “清明插柳,端午插艾”
- ใบชางผู Acorus calamus 菖蒲 ภาษาไทยเรียกว่า ว่านน้ำ มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ใบมีลักษณะแข็งตั้งตรงปลายใบมีลักษณะแหลมคล้ายกระบี่ ในตำราสมุนไพรจีนเรียกว่า สุยเจี้ยน 水剑 แปลว่ากระบี่น้ำ รากและก้านของชางผู มีน้ำมันหอมช่วยให้สดชื่นและฆ่าเชื้อโรค อีกทั้งสามารถนำมาใช้ดองเป็นเหล้ายา โดยมีความเชื่อว่ากินแล้วจะมีอายุยืน ในเทศกาลตวนอู่นิยม นำใบว่านน้ำมาปักที่สองฝั่งของประตู เพื่อเป็นเคล็ดใช้แทนกระบี่ช่วยปราบโรคภัยไข้เจ็บและสิ่งเลวร้ายทั้งปวง
- ดอกทับทิม 石榴花 ทับทิมมักออกดอกในเดือน 5 จึงถือว่าเป็นดอกไม้ประจำเดือน รากและเปลือกของทับทิมสามารถนำมาเป็นสมุนไพรฆ่าเชื้อโรคและไล่แมลงได้ นอกจากนี้ยังมีการนำดอกทับทิมมาปักที่ผมเพื่อเป็นสิริมงคลและไล่สิ่งอัปมงคล เพราะเทพประจำต้นทับทิมคือ เทพเจ้าจงขุย เทพเจ้าผู้เหล่าผีและมารทั้งปวง
- กระเทียม 大蒜 ชาวจีนมีความเชื่อว่า กระเทียมมีร้อยคุณประโยชน์ แต่มีหนึ่งโทษ นั้นคือกลิ่นฉุนรุนแรง เมื่อรับประทานแล้วจะเป็นกลิ่นติดปาก แต่คนจีนก็นิยมใช้กระเทียมมารวมอยู่ในพืชไล่สิ่งชั่วร้าย โดยนิยมติดกระเทียมไว้ที่ปลายใบซางผู หรือว่านน้ำที่ทำเป็นกระบี่ปักไว้ที่หน้าประตู
- ดอกหลงฉวน Ixora chinensis 龙舟花 แปลตามความหมายคือ ดอกเรือมังกร มีลักษณะคล้ายดอกเข็ม มักบานในช่วงเดือน 5 มีคุณสมบัติทางยา เช่นเดียวกับพืชอื่น ๆ
โดยพืชทั้ง 5 อย่างนี้ ใบอ้ายและใบซางผูสำคัญที่สุด ถ้าไม่มีครบทั้ง 5 อย่าง ก็สามารถใช้เพียง 2 อย่างแขวนหน้าประตูหรือในบ้าน
นอกจากการใช้พืช 5 ชนิดเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายแล้ว ชาวจีนยังมีประเพณีการห่อเครื่องหอม ซึ่งข้างในใส่ดอกไม้แห้ง สมุนไพร และเครื่องหอมอื่น ๆ เย็บห่อใส่ไว้ด้วยกัน ทำเป็นรูปลักษณะที่เป็นมงคลต่าง ๆ เช่น ดอกเหมย ดอกเก๊กฮวย ดอกบัว ลูกท้อ หรือรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น เสือ ลิง แล้วนำคล้องประดับไว้ที่หน้าอก
เครื่องหอมนี้เป็นสิ่งที่หญิงสาวนิยมทำให้หนุ่มคนรักในเทศกาลตวนอู่ ในบางครอบครัวสตรีในบ้านก็จะทำไว้มอบให้ผู้ใหญ่ หรือเด็กภายในบ้าน เพื่อให้เมื่อกลิ่นหอมเข้าจมูกก็จะทำให้ผู้ได้กลิ่นสดชื่นและเป็นผลดีต่อสุขภาพ
รูป/ข้อมูล : Baidu/Wikipedia/หนังสือเทศกาลจีนและการเซ่นไหว้ โดย อ.ถาวร สิกขโกศล
ฟังเรื่องเล่าจีน ได้ทาง ช่อง chinatalks