ชั่วยาม หรือ สือเฉิน 时辰 เป็นการวัดเวลาแบบจีนโบราณ โดยมาจาการวัดเวลาโดยใช้ นาฬิกาแดด หรือ ยื่อกุ้ย 日晷 ซึ่งจะอ่านเวลาโดยการสังเกตเงาของดวงอาทิตย์ที่ตกลงมาบนหน้าปัดของนาฬิกา ซึ่งแบ่งออกเป็น 12 ช่อง แต่ละช่องมีหน่วยนับเป็น ชั่วยาม เรียกว่า สือเฉิน 时辰 โดยแต่ละชั่วยามจะมีระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
ทั้งนี้ใน 1 วันจะมีทั้งหมด 12 ชั่วยาม ชั่วยามละประมาณ 2 ชั่วโมง โดยมีชื่อเรียกแต่ละชั่วยาม เทียบเคียงกับปีนักษัตรทั้ง 12 นักษัตร ซึ่งจะสามารถนำไปทำนายดวงชะตาและฤกษ์ยามต่อได้ โดย 12 ชั่วยาม ประกอบด้วย
ยามจื่อ 子 คือ 23.00 – 24.59 น. ถือเป็นยามชวด
ยามโฉ่ว 丑 คือ 01.00 – 02.59 น. ถือเป็นยามฉลู
ยามอิ๋น 寅 คือ 03.00 – 04.59 น. ถือเป็นยามขาล
ยามเหม่า 卯 คือ 05.00 – 06.59 น. ถือเป็นยามเถาะ
ยามเฉิน 辰 คือ 07.00 – 08.59 น. ถือเป็นยามมะโรง
ยามซื่อ 巳 คือ 09.00 – 10.59 น. ถือเป็นยามมะเส็ง
ยามอู่ 午 คือ 11.00 – 12.59 น. ถือเป็นยามมะเมีย
ยามเว่ย 未 คือ 13.00 – 14.59 น. ถือเป็นยามมะแม
ยามเซิน 申 คือ 15.00 – 16.59 น. ถือเป็นยามวอก
ยามโหย่ว 酉 คือ 17.00 – 18.59 น. ถือเป็นยามระกา
ยามซวี 戌 คือ 19.00 – 20.59 น. ถือเป็นยามจอ
ยามห้าย 亥 คือ 21.00 – 22.59 น. ถือเป็นยามกุน
เค่อ 刻
เค่อ 刻 คือ หน่วยนับเวลาแบบจีนโบราณ โดยใช้ นาฬิกาน้ำ หรือ โล่วหู 漏壶 ซึ่งใช้หลักการหยดอย่างสม่ำเสมอ ตามลักษณะของน้ำ แล้วอาศัยสังเกตการลดลงของน้ำเพื่อบ่งบอกเวลา
นับตั้งแต่ราชวงศ์โจวเป็นต้นมา ชาวจีนก็รู้จักใช้นาฬิกาน้ำ เป็นตัวบอกเวลา โดยอาศัยถังน้ำเจาะรูให้น้ำไหลออกได้ พร้อมจัดวางภาชนะรองรับน้ำซึ่งจะมีไม้ไผ่ขีดเส้นแบ่งบอกเวลาเสียบปักอยู่ด้วย เมื่อน้ำจากถังไหลออกตามท่อลงมายังภาชนะรองรับ ระดับน้ำที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ไล่ระดับตามเส้นขีดบนไม้ไผ่ จึงทำให้สามารถรู้เวลาได้
การทำงานของนาฬิกาน้ำนั้น จะแบ่งขีดเวลาออกเป็น 100 ขีด นั่นคือใน 1 วัน จะมี 100 เค่อ โดย 1 เค่อ จะเทียบเท่ากับเวลาประมาณ 15 นาที ดังนั้น 1 ชั่วยามจึงมีทั้งหมด 8 เค่อ
ข้อเสียของนาฬิกาน้ำ คือ ไม่สามารถนำใช้ได้ในฤดูหนาวได้ เนื่องจากน้ำจะแข็งตัว
เวลาหนึ่งก้านธูป
การบอกเวลาด้วยก้านธูปเป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากมีความสะดวกและง่ายไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์มาก แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ทั้ง กำลังแรงลม ความสั้นยาวของธูป ความชื้นและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ล้วนส่งผลต่อการเผาไหม้เร็วช้าของธูป ทำให้ระยะเวลาหนึ่งก้านธูป มีความสั้นยาวแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเวลาหนึ่งก้านธูปนี้ เทียบได้กับ 1 ชั่วโมงของเวลาปัจจุบัน
ติดตาม chinatalks ได้ที่